รีเซต

รู้จักภาวะระบบในร่างกายอักเสบ "MIS-C (มิสซี)" อันตรายถึงเสียชีวิต พบได้เมื่อ "เด็กติดโควิด"

รู้จักภาวะระบบในร่างกายอักเสบ "MIS-C (มิสซี)" อันตรายถึงเสียชีวิต พบได้เมื่อ "เด็กติดโควิด"
Ingonn
6 ตุลาคม 2564 ( 13:49 )
176
รู้จักภาวะระบบในร่างกายอักเสบ "MIS-C (มิสซี)" อันตรายถึงเสียชีวิต พบได้เมื่อ "เด็กติดโควิด"

เมื่อเด็กติดโควิด-19 คุณพ่อ คุณแม่ก็ยิ่งเป็นห่วง โดยล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเปิดเผยว่า ตอนนี้หากเด็กป่วยโควิด-19 ต้องเฝ้าระวังอาการ "MIS-C (มิสซี)" หรือกลุ่มอาการอุบัติใหม่ที่พบในเด็กซึ่งร่างกายมีการอักเสบหลายระบบหลังจากมีการติดเชื้อ SARS- CoV-2 ภาวะนี้พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ ซึ่งในประเทศไทยพบผู้ป่วย MIS-C แล้วประมาณ 30 - 40 ราย ทั่วประเทศ 

 

 

 

"MIS-C (มิสซี)" คืออะไร

 

"MIS-C (มิสซี)" เป็นกลุ่มอาการอุบัติใหม่ที่พบในเด็กซึ่งร่างกายมีการอักเสบหลายระบบหลังจากมีการติดเชื้อ SARS- CoV-2 สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อเชื้อไวรัสนี้ที่มากเกินไป ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายระบบตามมา ภาวะนี้พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 0.02 ของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโควิด-19

 

 

จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีเด็กอายุ 0-18 ปีติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะทำให้มีการพบผู้ป่วย MIS-C (มิสซี) เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเป็นอาการที่พบในเด็กหลังติดเชื้อโควิด19 ในประเทศไทยพบผู้ป่วย MIS-C แล้วประมาณ 30 - 40 ราย ทั่วประเทศ  ภาวะนี้ควรได้รับการรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลินและยากดภูมิคุ้นกัน โดยในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังไม่พบการเสียชีวิตจากภาวะนี้ การวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคนี้ได้

 

 

อาการของ "MIS-C (มิสซี)" 

 

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ผื่น ตาแดง อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว มือ เท้าบวมแดง ปากแดง แห้ง แตก ต่อมน้ำเหลืองโต อาจมีภาวะช็อคที่เกิดจากการอักเสบที่หัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจโป่งพองซึ่งเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ เรียกได้ว่า อาการคล้ายโรคคาวาซากิ ร่วมกับการตรวจพบเชื้อหรือภูมิคุ้มกันหรือประวัติสัมผัสเชื้อ SARS- CoV-2 การอักเสบของหัวใจพบได้ร้อยละ 35-100 อาจมีอาการรุนแรงจนจำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต 

 

 

อาจเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะที่กำลังจะหายจากโรค หรือ ตามหลังการติดเชื้อประมาณ 2-6 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการแสดงของโควิด-19 เพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการ อายุเฉลี่ยของเด็กที่พบอาการดังกล่าว คือ 9.7 ปี พบในเด็กผู้ชาย
มากกว่าเด็กผู้หญิง

 

 

 

ติดตามอาการ "MIS-C (มิสซี)" ที่เด็กไทยเป็น 

 

ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมีการพบผู้ป่วย MIS-C จำนวน 8 ราย อายุตั้งแต่ 9 เดือน ถึง 11 ปี อายุเฉลี่ย 6 ปี โดยผู้ป่วย 6 ราย มีประวัติการเป็นโควิด-19 มาก่อนภายใน 4 - 6 สัปดาห์ และมีอาการของโรคโควิด-19 น้อยหรือไม่มีอาการ ส่วนผู้ป่วยอีก 2 ราย ไม่พบประวัติการสัมผัสเชื้อที่ชัดเจน ผู้ป่วยทุกรายมีไข้ร่วมกับผื่น ส่วนใหญ่พบอาการทางระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว ในเด็กเล็กมักมีอาการตาแดง ปากแดง มือเท้าบวม คล้ายโรคคาวาซากิ

 

 

การตรวจเลือดจะพบค่าการอักเสบที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ผู้ป่วย 4 ราย (ร้อยละ 50)  มีภาวะช็อคจากการที่หัวใจบีบตัวได้ลดลง จำเป็นต้องให้การรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยที่อาการรุนแรง 3 ราย มีการตอบสนองต่อการรักษาดี การทำงานของหัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติ ระยะเวลาที่รักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตขึ้นกับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษา  ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังไม่พบการเสียชีวิตจากภาวะนี้ การวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคนี้ได้

 

 

 

การรักษาภาวะ "MIS-C (มิสซี)"

 

การรักษาผู้ป่วยเด็กที่สงสัยกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 เป้าหมายของการรักษาภาวะ MIS-C  คือการลดการอักสบและป้องกันภาวะแทรกซ้อน การรักษาจะต้องให้ยา "กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน" ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการรักษาโรคอื่น นอกจากนั้นอาจให้ยาต้านจุลชีพที่มีฤทธิ์ครอบคลุมกว้างตามอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย หรือตามตำแหน่งที่คิดว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ หรือแบ่งการรักษาง่ายๆ 2 ขั้นตอน ดังนี้

 

 

1.รักษาในโรงพยาบาล ให้ยาตามความรุนแรงของโรคและติดตามดูอาการตอบสนองต่อยา

 

 

2.หากมีภาวะช็อค จำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง