รีเซต

Suk Suk: ซุกที่เขา สุขที่ใจ ซุกอะไรไว้ในใจและในหนัง?

Suk Suk: ซุกที่เขา สุขที่ใจ ซุกอะไรไว้ในใจและในหนัง?
77ข่าวเด็ด
21 กรกฎาคม 2563 ( 05:55 )
221

Movie Review: ถ้าคุณพบรักในช่วงบั้นปลายของชีวิตกับคนแปลกหน้า และความรักนั้นช่างสุดแสนโรแมนติก ดื่มด่ำ เต็มไปด้วยแรงปรารถนาอิ่มเอมและคุกรุ่น คุณจะทำอย่างไรกับเมีย ลูก และหลานที่บ้าน?

“Suk Suk” (2019) ในภาษาจีนกวางตุ้ง แปลว่า “ลุง” แต่ใบปิดหนังในไทยใช้ชื่อเรื่องว่า “ซุกที่เขา สุขที่ใจ” เป็นชื่อที่ลงตัวทีเดียวสำหรับหนังคุณภาพจากฮ่องกงโดยผู้กำกับหนุ่มไฟแรง เรย์ ยึง (Ray Yeung) ที่กล้าตีแผ่ประเด็นกดดันทางสังคม และภาระบทบาทหน้าที่ต่อครอบครัวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตชายเกย์

ยังไม่เคยมีหนังเอเชียเรื่องใดที่หยิบยกเรื่องนี้มาพูดได้อย่างลึกถึงอารมณ์และสะท้อนความเป็นจริงของสภาพสังคมฮ่องกงในปัจจุบันเช่นนี้มาก่อน และคนดูอาจจะรู้สึกได้ว่า ฮ่องกงไม่ได้ “เปิดกว้าง” อย่างที่ใครๆ คิด

รักไม่ได้ถูกซุกในห้องน้ำ
“Pak” โชเฟอร์แท็กซี่ แม้จะอายุ 70 แล้ว ก็ยังคงรักงานบนท้องถนน ส่วน “Hoi” วัย 65 เลือกการเกษียณและไปโบสถ์คริสต์ ทั้งสองใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวของตัวเองบนความเชื่อที่แตกต่างกัน

Pak และภรรยามีลูกที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว 2 คนและมีหลานสาว ลูกสาวของเขาก็กำลังจะแต่งงานกับหนุ่มวัยละอ่อน ส่วน Hoi มีลูกชายคนเดียว หนุ่มผู้เคร่งครัดกับศาสนา แต่งงานแล้ว และมีหลานให้ Hoi ปลื้มใจ

ถ้าต่างคนต่างใช้ชีวิตไปตามครรลอง ทั้งสองก็คงจะลาจากโลกนี้ไปโดยไม่ได้ลิ้มรสอิสรภาพทางจิตวิญญาณ และรสรักที่มากกว่าเซ็กซ์ฉาบฉวยจากที่หาได้ในที่อโคจร เช่น ในห้องน้ำสาธารณะ

เขาพบกันโดยบังเอิญตรงม้านั่ง ตรงหน้าห้องน้ำในสวนสาธารณะ ขณะที่ “Pak” กำลังใช้เวลายามบ่าย แวะ วนเวียน เยี่ยมชม “ห้องน้ำสาธารณะ” ราวกับมาเที่ยวสนามเด็กเล่น เขาคอยสอดสายตาส่องหาคนที่มีวัตถุประสงค์อยากจะ “ซุกซน” ด้วยกันในนั้น

ฉากนี้ คนดูจะรู้ได้เสียทีว่า ชายเกย์ไปมีเซ็กซ์ในห้องน้ำสาธารณะด้วยการ “ชักชวนกัน” แบบไหน

Hoi ก็ถูกชักชวน แต่เขาไม่ได้เดินตาม Pak เข้าห้องน้ำไป และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองทำความรู้จักกันในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่ “วัตถุทางเพศ” จนกระทั่งตกหลุมรักกันและกันในที่สุด

“Pak” และ “Hoi” ตัวละครสมมุติจากชีวิตจริง
Ray Yeung สร้างตัวละคอนทั้งสองขึ้นมาจากชีวิตจริงของเกย์ 12 คนในวัยชราที่อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกงรวบรวมไว้ในหนังสือ ผู้กำกับหนังเรื่องนี้จึงขอ Prof. Dr. Travis Kwong เจ้าของผลงานให้ช่วยแนะนำเกย์อาวุโสในหนังสือเพื่อให้เขาได้ไปพบเป็นการส่วนตัว

เรย์ให้สัมภาษณ์กับสื่อฮ่องกงว่า หลังอ่านจบ เขาชอบงานชิ้นนี้มาก ได้บอกอาจารย์ Travis และย้ำกับตัวเองว่า “I have to tell the story.” (ผมต้องเล่าเรื่องนี้ให้ได้)

เกย์ในวัยอาวุโสมีความแตกต่างหลากหลายในการใช้ชีวิต บางคนเปิดเผยตัวตนกับครอบครัว แล้วก็ต้องทนอยู่คนเดียว บางคนถูกปล่อยให้อ้างว้างลำพัง บางคนเปิด แต่เปิดได้ไม่หมดในทุกสถานการณ์ เรียกว่า ระดับการเปิดเผยของแต่ละคน “ไม่เท่ากัน”

เมื่อต้องการเป็นตัวของตัวเองขึ้นมา พวกเขาก็จะหาหนทาง เช่น ไปรวมตัวกันที่ซาวน่า

ฉากชายชรานั่งกินข้าวด้วยกันในซาวน่า พูดคุยหยอกล้อ สนิทสนมกันทำให้คนดูอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หรือนี่คือ “ครอบครัวที่แท้จริง” ของพวกเขาหรือเปล่า?

แคสติ้งนักแสดงแสนลำบาก
ผู้กำกับเล่าว่า ต้องใช้เวลากว่า 1 ปีที่จะหานักแสดงชายที่กล้ารับบท Pak และ Hoi เขาต้องการนักแสดงที่มีชื่อเสียงเพื่อดึงความสนใจของนายทุน และคนดู

เพราะนักแสดงต้องจูบปาก และมีฉากเปลือยกาย Make Love (หลายฉาก) นักแสดงฮ่องกงในวัยอาวุโสหลายคนที่ได้รับการทาบทามต่างปฏิเสธบทนี้ เพราะกลัวเสีย “ภาพลักษณ์”

แม้ทีมงานจะพบนักแสดงชายอยู่ในวัยเดียวกับตัวละครที่ต้องการ ส่วนใหญ่ก็มาจากยุคหนังจีนกำลังภายในเฟื่องฟู และหนังแนวแก๊งค์สเตอร์ที่เป็นสินค้าส่งออกชั้นเลิศจากเกาะฮ่องกง การที่จะให้อดีตฮีโร่หนังกำลังภายในสุดฮอตหรือนักเลงปืนโตไปรับบทเกย์จึงเป็นเรื่องเกินจินตนาการสำหรับพวกเขา ส่วนผู้กำกับโดนแต่คำปฏิเสธ แต่ยืนยันว่า เขาเข้าใจดีที่โดนปฏิเสธ

ผู้กำกับเล่าต่อด้วยว่า เขาต้องเดินทางไปไทเปเพื่อจะเจอ “Tai Bo” นักแสดงอาวุโสชาวฮ่องกงที่คนฮ่องกงรู้จักดีในบทตลก แต่ตอนนั้นย้ายไปทำงานในไต้หวัน หายเงียบไปสองเดือน ในที่สุด Tai Bo ก็ตกลงรับบทนี้ โดยภรรยาของเขาเป็นคนพยักหน้าอนุญาต

ส่วนบท “Hoi” นั้น “Ben Yuen” ไม่มีปัญหา เขาเคยรับบทเป็นทรานเจนเดอร์มาก่อนจึงไม่น่าหนักใจที่จะแสดงในเรื่องนี้ นักแสดงนำทั้งสองในชีวิตจริง ไม่ได้เป็นเกย์

ความยากของบทนำในเรื่องนี้ ก็คือ นักแสดงต้องสามารถสื่อสารทางสายตา และใช้ภาษากายเป็นส่วนใหญ่มากกว่าการใช้บทสนทนา และจุดนี้เองที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดูสมจริงราวกับเรากำลังสอดส่องความเป็นไปในชีวิตใครบางคนที่อาจจะเป็นปู่ เป็นตา หรือเป็นพ่อของตัวเราเอง

ตัวหนังค่อยๆ พาคนดูเดินตามเขาทั้งสองไปยังสถานที่ต่างๆ อย่างช้าๆ และคอยเก็บรายละเอียดให้ดี อย่างฉากในซาวน่า ทีมไปถ่ายทำที่สถานที่จริง และผู้กำกับก็ลงทุนใส่ผ้าขนหนูไปสังเกตการณ์มาก่อนหน้านี้แล้ว เขาพูดติดตลกว่า

“ตอนผมไป ผมเป็นคนที่เด็กที่สุดในนั้น…คนมาเยอะมากๆ ในตอนบ่ายสาม พอถึงหกโมงเย็น หายหมดเลย พวกเขาคงต้องรีบกลับไปให้ทันกินมื้อเย็นกับครอบครัว”

“Social Movement” กับบ้านพักเกย์ชรา
บทหนังยังเติมประเด็นทางสังคมได้อย่างลงตัว เรียกได้ว่า กลมกล่อม ไม่มากเกินไป และไม่เบาหวิวจนอดคิดไม่ได้ว่า คงใส่ประเด็นสังคมมา เพื่อให้แค่ “ดูดี” หรือเปล่า

การใช้ชีวิตวัยเกษียณเป็นทางเลือกส่วนตัว เกย์บางคนไม่อยากจะไปอยู่ในบ้านพักที่มีหญิงชายเป็นหลัก แต่การมีบ้านพักเกย์ชราล้วน จำเป็นต้องมีการต่อสู้กับภาครัฐ

เกย์ในก๊วนของ Pak และ Hoi ต่างลังเลที่ไปเป็นตัวแทนเพื่อพูดแทนคนอื่นๆ ต่อหน้าที่ประชุมภาครัฐ และต้องเอาหน้าออกทีวี พวกเขามีข้ออ้างต่างๆ นานา กลัวคนรู้ กลัวอาย กลัวโดนเลือกปฏิบัติ ฉากนี้ ถ้าจับคำพูดของเกย์ที่ไปพูดในที่ประชุมให้ดี คุณอาจจะเกิดความคิดใหม่ในเรื่องการสื่อสารเพื่อ Social Movement อยากปรบมือให้กับการเขียน Speech ในฉากนี้

ชีวิตรักที่ต้องหลบซ่อนจะไปจบลงที่ใด?
ต่อมา โชเฟอร์ขับรถแท็กซี่ตัดสินใจยกรถคู่ชีพให้ลูกเขยที่ตกงาน ชั่วชีวิตของ Pak เขาทำหน้าที่สามี พ่อ และปู่ ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ในวันที่เขายกรถให้ลูกเขย ดูเหมือนจะเป็นวันที่ใครๆ ต่างพากันยินดีที่เขาจะได้ “Enjoy” วัยเกษียณอย่างแท้จริงเสียที

แต่ดูเหมือนว่า ข้างใน เขากลับรู้สึกเคว้งคว้างและอ้างว้างว่างเปล่าเหลือเกิน

เขาเดินไปเรื่อยเปื่อยบนท้องถนนอย่างคนไร้จุดหมาย แม้ความรักที่เขามีดูเหมือนจะเป็น “รักแท้” ที่แม้จะมาช้าและมาในเวลาที่เขาร่วงโรยจากวัยหนุ่ม เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่า Pak จะเป็นยังไงต่อไปกับ Hoi

เมื่อภาระหน้าที่ของคนๆ หนึ่งได้สิ้นสุดลงแล้ว เขามีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตและเลือกทางเดินได้เองหรือเปล่า ในเมื่อบทบาทสามี พ่อ และปู่ ยังคงค้ำคออยู่ ?

Suk Suk (Twilight’s Kiss) เป็นหนังคุณภาพอีกเรื่องที่น่าจะสร้างชื่อให้ Ray Yeung อดีตทนายความที่ผันตัวมาทำหนัง หลายๆ ฉากในหนังเรื่องนี้น่าจะสะท้อนความในใจของเขาในฐานะเกย์คนหนึ่งที่พ่อแม่ไม่ได้ปลื้มใจนักที่เลือกมาทำหนังมากกว่าเป็นทนาย

การดูหนังเรื่องนี้เหมือนการเปิดหนังสือไปอย่างช้าๆ ทีละหน้า แต่ละหน้ามีความหมายที่ถูกซุกซ่อนไว้สอดรับกับความเป็นไปในโลกปัจจุบันที่เราต่างมีความรู้สึกร่วมอะไรบางอย่างถึงเรื่องความเสมอภาค และอิสรเสรีภาพ

ไม่มีหน้าใดที่เป็นสีฉูดฉาดปาดอารมณ์ แต่ทุกๆ หน้า ตั้งแต่ต้นจนจบ คุณจะไม่หยุดตั้งคำถามว่า คุณค่าในการมีชีวิตอยู่ของตัวเรา คืออะไรกันแน่?

เริ่มฉายวันที่ 23 ก.ค. 2563 โรงภาพยนตร์ในเครือ Major Cineplex
ความยาว 92 นาที เรทผู้ชม: น 15+
ผู้กำกับ Ray Cheung
นักแสดง Tai Bo, Ben Yuen, Patra Au
ค่าย: M Pictures
Trailer: Suk Suk (2019), Twitlight Kiss

Other Links:

ธปท.จับตาเศรษฐกิจประเทศชะลอตัว คาดปีนี้เติบโตเพียงร้อยละ 3
ผู้สูงวัยหัวหิน ใส่ครุยรับใบประกาศนียบัตรจบหลักสูตรวิลัยวัยหวาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง