'ม.หอการค้า'ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ก.ค. ปรับตัวดีขึ้น 3 เดือนติดแต่ยังต่ำสุดในรอบ 21 ปี
‘ม.หอการค้า’ ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ก.ค. ปรับตัวดีขึ้น 3 เดือนติด แต่ยังต่ำสุดในรอบ 21 ปี เหตุศก.ถดถอย-โควิด
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม 2563 จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,241 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 50.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ที่ 49.2 ถือเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ยังเป็นดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 21 ปี 10 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันอยู่ที่ 34.0 เพิ่มจากเดือนมิถุนายนที่ 33.2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 57.7 เพิ่มจากเดือนมิถุนายน ที่อยู่ที่ 56.8
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับ ปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น อาทิ การที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5, การใช้มาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชน และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศยังทรงตัวต่อเนื่อง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะยังปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว การส่งออก การจ้างงานในอนาคต รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการออกมาชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างต่อเนื่อง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมแทบทุกรายการ อยู่ที่ 42.6 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนมิถุนายน ที่ 41.4 หรือปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เชื่อมั่นโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 48.4 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 47.6 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 59.3 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 58.6 และดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 28.3 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนที่อยู่ระดับ 29.8