รพ.ธรรมศาสตร์ เริ่มฉีด แอสตร้าฯ เข็มแรก ยัน จะพยายามจัดคิวรับวัคซีนต่อวันให้ได้มากที่สุด
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รพ.สนาม มธ.โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุ ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์ระบาดของโควิด ให้มหาวิทยาลัยสามารถร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ นำยา วัคซีนและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโควิด 19 เข้ามาในราชอาณาจักร ได้แล้ว
ทางม.ธรรมศาสตร์ เริ่มกระบวนการติดต่อพูดคุย และปรึกษาหารือกับองค์กรคณะบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศไปเป็นจำนวนมากแล้ว และเชื่อว่าในอีกไม่นานนี้ ก็อาจจะมีความคืบหน้าที่น่าพอใจในการช่วยเหลือเพื่อให้ประเทศของเรามียา วัคซีนหรือเวชภัณฑ์สำหรับการสู้รบในสงครามโควิดครั้งนี้ได้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย
โดยว่า “วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม วันที่ 139 ของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และวันที่ 78 ของศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์รังสิต
วันนี้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ทั่วประเทศอยู่ที่ 18,702 คนและมีผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มขึ้นอีก 273 คน จำนวนผู้ป่วยใหม่ไม่ได้เพิ่มแตกต่างไปจากเมื่อวาน จำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังทรงๆอยู่ประมาณนี้ คงเป็นอย่างนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนสำหรับจำนวนผู้เสียชีวิต แต่เราหวังว่าสิ้นเดือนนี้ตัวเลขผู้ป่วยใหม่จะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยนะ
เช้านี้ภาพที่เผยแพร่จากมูลนิธิชัยพัฒนาทำให้พวกเรา และบุคลากรทุกคนที่อยู่ในแนวรบโควิดทั่วทั้งประเทศมีขวัญและมีกำลังใจมากยิ่งขึ้น เมื่อตระหนักว่า มีใครที่เอาใจช่วย และคอยช่วยเหลือสนับสนุนพวกเราอยู่
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของห้าวัน ที่เราจัดการฉีดซิโนแวคให้เป็นเข็มแรก เพื่อจะให้ผู้ที่มาฉีดวัคซีนได้มารับ Astra เข็มที่สองในอีกราวสี่สัปดาห์ข้างหน้า จำนวนผู้มารับวัคซีนเข็มแรกวันนี้อยู่ที่ 2,102 คนจากคิวที่จองไว้รวม 3,344คน คิดเป็น 62.95 % ของจำนวนจอง
ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปโดยตลอดทุกวันเราจะฉีด Astra+Astra และจะพยายามจะจัดคิวการรับวัคซีนแต่ละวันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะเพิ่มจำนวนผู้มารับวัคซีนให้เร็วและมากที่สุด สองวันแรกอาจจะมีเพียงสองพันกว่าคิว แต่หลังจากนั้นจะพยายามไปให้ใกล้สามพันคิวต่อวันละนะ อย่าลืมตรวจสอบวันนัดใน #หมอพร้อม ของท่านบ่อยๆด้วยนะ จะได้ไม่ผิดพลาด
เมื่อวานนี้ ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์ระบาดของโควิด ที่ระบุให้มหาวิทยาลัยสามารถร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆนำยา วัคซีนและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโควิด 19 เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อการให้บริการประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ได้
เราอยากจะแจ้งให้ทราบว่า การดำเนินการเรื่องนี้ในฐานะหน่วยงานของรัฐอีกหน่วยหนึ่ง ที่จะช่วยกันดูแลป้องกันและปกป้องผู้คนชาวไทยจากโควิด เป็นเรื่องที่ธรรมศาสตร์ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะทำมาตั้งแต่ต้นเมื่อเริ่มมีการระบาดครั้งแรก และเมื่อเห็นว่าหน่วยงานของรัฐหน่วยงานอื่นๆมีภารกิจที่ยุ่งยากและมีเรื่องที่ต้องดำเนินการมากมาย กับทั้งมีขั้นตอนการจัดการที่ต้องดูแลผู้คนและโรงพยาบาลทั่วประเทศ จนอาจจะทำให้เกิดปัญหาคอขวดในการดำเนินการจัดหายา วัคซีนและเวชภัณฑ์ จากต่างประเทศ
ธรรมศาสตร์จึงได้อาสาเข้ามาเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่จะมาช่วยดูแลในเรื่องนี้ เพื่อเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยเราจะปรึกษาหารือในการดำเนินการกับเครือข่ายโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยของรัฐ (UHOSNET)เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้ด้วย
หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ พวกเราได้เริ่มกระบวนการติดต่อพูดคุยและปรึกษาหารือกับองค์กรคณะบุคคลและหน่วยงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศไปเป็นจำนวนมากแล้ว และเชื่อว่าในอีกไม่นานนี้ ก็อาจจะมีความคืบหน้าที่น่าพอใจในการช่วยเหลือเพื่อให้ประเทศของเรามียา วัคซีนหรือเวชภัณฑ์สำหรับการสู้รบในสงครามโควิดครั้งนี้ได้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย
พวกเราที่นี่เชื่อกันว่าเราคงจะต้องอยู่กับโรคร้ายนี้ เหมือนๆกับทุกประเทศในโลก ต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึงปลายปีหน้า ฉะนั้น การเตรียมการ การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์มาใช้ในสงครามที่ยาวนานนี้ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงรับอาสามาช่วยทำให้กับประเทศอีกแรงหนึ่งด้วย
วันนี้ที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ จำนวนผู้ป่วยใหม่ที่รับเข้ามาดูแลก็ลดลงจากหลายวันที่ผ่านมา เรารับผู้ป่วยใหม่เข้ามาดูแลในวันนี้ได้เพียง 20 คน แต่เนื่องจากวันนี้มีผู้ป่วยที่รักษาหายกลับบ้านได้ กับที่ส่งกลับเข้า รพ ธรรมศาสตร์ได้น้อย เพียง 17 คน จำนวนผู้ป่วยที่ค้างอยู่กับเราคืนนี้จึงยังเหลือที่ 297 คน แต่ก็ยังคงต่ำกว่าสามร้อยอยู่นะ
อีกบริการหนึ่งในเรื่องผู้ป่วยโควิดของเรา คือศูนย์ Home Isolation ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมมากถึง 2,100 คนแล้ว และมีผู้ป่วยแอคทีฟที่เรารับดูแลอยู่ในขณะนี้ประมาณ 450 คน ข้อสังเกตหนึ่งที่เราพบก็คือ ผู้ป่วยในโครงการนี้กว่า 90% จะหายจากโรคได้เมื่ออยู่กับเราครบสองสัปดาห์ มีจำนวนเพียงประมาณไม่เกิน 5% เท่านั้น ที่อาจจะต้องถูกส่งเข้ามารับการดูแลในรพ.สนามหรือใน รพ.หลัก
และดูเหมือนว่า ผู้ป่วยจำนวนมากที่ตรวจ swab พบว่าตัวเองติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการมากนัก ต่างก็พอใจที่จะเข้าโครงการ Home Isolation โดยขอมารับยาต้านไวรัส X-rayปอด และติดต่อกับแพทย์พยาบาลทุกวันจากบ้านโดยผ่านระบบ Telemedicine ยิ่งกว่าที่จะเลือกมานอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเหมือนกับในช่วงเวฟแรกและเวฟสองของการระบาด
ไม่ว่าจะเลือกรูปแบบการรักษาแบบใดในเรื่องโควิด ธรรมศาสตร์ก็มี options ให้เลือกได้ครบถ้วนนะ รวมทั้งจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้กับทุกคนไปยาวๆจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อยด้วยแหละ