MILLเหล็กราคาจ่อขยับ โปรเจ็กต์ก่อสร้างคลอดอื้อ
#MILL #ทันหุ้น - MILL รับสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีสิทธิดันราคาเหล็กขึ้น ชี้วงการเริ่มหาซื้อจากแหล่งอื่น ท่ามกลางซัพพลายเหล็กขาดแคลน ขณะที่โปรเจ็กต์ก่อสร้างในประเทศทยอยออกเพียบ ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง-สีส้ม ย้ำเป้ารายได้ปีนี้กระฉูด 2 หมื่นล้านบาท เน้นผลิตเหล็กมาร์จิ้นสูง-ธุรกิจนวัตกรรมช่วยหนุน
นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL ยอมรับว่า สถานการณ์รัสเซียบุกยูเครนมีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากซัพพลายเหล็กของโลกส่วนหนึ่งมาจากรัสเซีย ซึ่งจากที่ติดตามสถานการณ์พบว่าในตลาดซื้อขายมีการยกเลิกการซื้อเหล็กต้นน้ำจากรัสเซียบ้างแล้ว นั้นหมายความว่าจะต้องหาซื้อจากแหล่งอื่น ท่ามกลางซัพพลายเหล็กที่ยังขาดแคลนอยู่ จากการที่จีนเข้มงวดการผลิตที่กระทบสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ ดังนั้นจึงมองว่ามีโอกาสที่ราคาเหล็กจะปรับตัวสูงขึ้นตามมา
โดยในส่วนของไทยเองมองว่าแนวโน้มราคาเหล็กจะสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมา อย่างไรก็ดีราคาเหล็กของไทยจะขึ้นอยู่กับความต้องการเหล็กภายในประเทศด้วย
หากประเมินขณะนี้จะพบว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากมีความคืบหน้าของการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างจากทางภาครัฐในด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นมาก ตลอดจน รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งกลุ่มรถไฟฟ้าจะต้องใช้เหล็กเป็นจำนวนมาก ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความต้องการเข้ามา แต่อาจจะต้องใช้เวลาหน่อย เช่นเดียวกับ ภาคเอกชนที่เริ่มกลับคืนมาดีกว่าก่อนเล็กน้อย ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการจะต้องเตรียมวัตถุดิบ และต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อรองรับการผลิตที่มากขึ้น
@เป้า 2 หมื่นล้านบาท
บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยจะเดินหน้าผลักดันยอดขายเหล็กก่อสร้าง พร้อมกับการขายเหล็กที่มีมาร์จิ้นสูงสร้างมูลค่าเพิ่ม ประเมินอีบิทด้าปีนี้จะอยู่ที่ 1.24 พันล้านบาท โดยเป้าผลิตเหล็กอยู่ที่ 9 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ประมาณ 6 แสนตัน
พร้อมกันนี้บริษัทยังคงเดินหน้าในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและเป็นเมกะเทรนด์ด้วยแนวคิด BEYOND STEEL ทั้งธุรกิจบริหารจัดการขยะ ผ่าน บริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์ ดีคาร์บอน จำกัด ที่มีการคัดเหล็กจากซากรถถูกบดย่อยให้มีขนาดเล็กลงก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการหลอม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเป็นการประหยัดพลังงานในการหลอม ส่วนชิ้นส่วนอื่นที่ไม่ใช่เหล็ก เช่น พลาสติก วัสดุยาง สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งได้ ตลอดจนการไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีเช่นการขนส่ง-อีวี ธุรกิจที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะต่อยอดการเติบโตได้
@รัสเซียส่งออกเหล็ก10%
ด้านนายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) กล่าวใน “รายการทันหุ้นทันเกม” ถึงธุรกิจที่จะรับประโยชน์จากสถานการณ์สงคราม หนึ่งในนั้นคือเหล็กเนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกเหล็กราว 5-10% ดังนั้นหากมีการคว่ำบาตรทางการค้าก็จะส่งผลกระทบจากซัพพลายขาดตลาดได้ ซึ่งหุ้นเหล็กจะได้รับเซนติเมนต์เชิงบวก เช่น MILL, GLOBAL, DOHOME, TMT