รีเซต

จุติ แจง พม.มีผลงานช่วยเหลือปชช.ช่วงโควิด ยันมีปัญหา ไม่มีเงินกิน ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก ให้โทร 1300

จุติ แจง พม.มีผลงานช่วยเหลือปชช.ช่วงโควิด ยันมีปัญหา ไม่มีเงินกิน ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก ให้โทร 1300
มติชน
22 เมษายน 2563 ( 16:53 )
381
1
จุติ แจง พม.มีผลงานช่วยเหลือปชช.ช่วงโควิด ยันมีปัญหา ไม่มีเงินกิน ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก ให้โทร 1300

 

ตามที่ นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก เยาวชน สตรี และครอบครัว ได้ออกมาตั้งข้อสงสัยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำอะไรอยู่ ในสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ที่มีคนตกงาน คนเปราะบางจำนวนมาก ซึ่งหลายคนเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาจากรัฐ เช่น เงินเราไม่ทิ้งกัน 5 พันบาท นั้น จากข่าว ป้ามล สงสัยกระทรวง พม.ทำอะไรอยู่ หลัง ปชช.เดือดร้อนโควิด-19 ไม่มีเงิน เข้าไม่ถึงเงิน 5 พันบาท

 

เมื่อวันที่ 21 เมษายน นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม.ก็ทำอะไรเยอะอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่ได้ทำอะไรเลย อย่างช่วง 3 เดือนแรกที่เกิดสถานการณ์ ก็ทำเชิงป้องกัน เช่น เย็บหน้ากากผ้าแจกประชาชน ส่วนคนไหนตกงานไม่มีบ้าน เราก็จัดที่พักพิงชั่วคราวให้

 

ล่าสุดยังตั้งทีมเฉพาะกิจ ทำการสำรวจชุมชนที่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) รับผิดชอบในพื้นที่ กทม.ประมาณ 2 ร้อยกว่าชุมชน ลงพื้นที่สำรวจว่าประชาชนเดือดร้อนอะไร หากพบเจอความขาดแคลน ก็จัดให้เลย ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง นมสำหรับเด็ก ตรงไหนที่มีความขาดแคลนมาก คนกระจุกตัวเยอะ และมีคนทำครัวได้ ก็จะตั้งครัวกลางให้ ตลอดจนสอนเรื่องการดูแลรักษาสุขอนามัยต่างๆ ทำร่วมไปกับกับกรมอนามัย และกรุงเทพมหานคร ส่วนอีก 1 พันกว่าชุมชนที่เหลือในกรุงเทพฯ มี กทม.รับผิดชอบอยู่แล้ว

 

รมว.พม. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ก็มี เช่น จ้างคนตกงาน และนักศึกษา มาทำแชร์กิฟเวอร์ดูแลผู้สูงอายุและคนติดเตียง มีรายได้ให้ตามคุณวุฒิตั้งแต่ 12,000-15,000 บาท โดยผู้สนใจสามารถสมัครเข้ารับการอบรมกับกระทรวง พม. นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการฝึกอาชีพช่างทำผมของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่งทั่วประเทศ ที่จะเปิดหลักสูตรให้ประชาชนสมัครเข้าฝึกอบรมหรือเรียนออนไลน์ เริ่มสัปดาห์หน้า เตรียมพร้อมการเปิดร้านตัดผม ที่ต้องมีสุขอนามัย เช่น เฟซชิลด์ หน้ากากอนามัย การรักษาความสะอาดอุปกรณ์สิ่งของต่างๆ ตามที่กรมอนามัยได้ให้คำแนะนำ และจากนี้ร้านทำผม จะไปก็ต้องนัดล่วงหน้า ไม่ใช่ไปแล้วจะไปนั่งรอเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว ต้องเป็นอย่างนี้ไปอีก 8 เดือนทั่วโลก ตลอดจนให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ลงสำรวจพื้นที่ชุมชนต่างๆ ดูความขาดแคลน ให้การช่วยเหลือ โดยให้แจ้งในเฟซบุ๊กหน่วยงานว่าเคสนั้นเคสนี้ได้รับการช่วยเหลือแล้ว เป็นการช่วยเหลือภายใน 24 ชั่วโมง


“เหล่านี้จะบอกว่าเราทำอยู่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้กระทั่งในส่วนกลางที่มอบให้แต่ละกรมไปพิจารณาแก้ไขระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง เช่น การระบุกลุ่มเป้าหมายที่เคยทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ต้องเปลี่ยน เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน” นายจุติกล่าว

 

ถามว่านางทิชาตั้งข้อสงสัยว่างานที่ พม.ทำ อาจไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาด้านสังคมในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้วัดจากเสียงร่ำไห้และปัญหาที่ยังมีอยู่นั้น นายจุติกล่าวว่า จริงๆ มีปัญหาและอยากขอความช่วยเหลือ เช่น ไม่มีเงินกิน ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก ก็ขอความช่วยเหลือมาที่ พม.ได้ หรือโทรสายด่วน 1300 ซึ่งขณะนี้ได้เพิ่มจาก 15 คู่สายเป็น 45 คู่สาย พนักงานรับคำปรึกษาจาก 30 เป็น 100 คน แม้อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมดทันที แต่ให้จดเบอร์โทรไว้ เพื่อติดต่อกลับ อีกทั้งยังให้กรมในสังกัดส่งตัวแทนมา เพื่อสามารถประสานการช่วยเหลือโดยตรง ไม่ต้องส่งเคสกันไปกันมา ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าช่วยเหลือไปมากแล้ว ไปดูผลงานได้ในเฟซบุ๊กหน่วยงาน

 

ถามต่อว่า พม.ได้เสนอของบประมาณกลางจากรัฐบาลมาทำโครงการช่วยเหลือด้านสังคมบ้างหรือไม่ นายจุติกล่าวว่า ไม่ได้คิดเรื่องของบประมาณ เพราะคิดว่าต้องใช้ทรัพยากรที่มีให้เต็มที่ไปก่อน ที่ผ่านมาได้กำชับอธิบดีห้ามคิดเรื่องขาดแคลนคนและงบประมาณ แต่ขอให้ทำไปก่อน หากเงินหมด ค่อยมาว่ากัน แต่ขอให้ทำไปก่อน

 

สำหรับศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เป็นหน่วยงานในกระทรวง พม. ทำหน้าที่เป็นคอลเซ็นเตอร์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ให้คำปรึกษาด้านสังคม โดยมีเจ้าหน้าที่และนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพปฏิบัติงานให้คำแนะนำปรึกษา ประสานงานหน่วยงานภายใน พม. และภายนอก เพื่อให้การช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาครอบครัวยากจน ผู้สูงอายุ คนพิการและขอทานและคนไร้ที่พึ่ง เป็นต้น โดยติดต่อได้ 4 ช่องทาง คือ โทรศัพท์สายด่วน 1300 ทางสื่อสังคม (Social Media) หรือการติดต่อด้วยตนเอง (walk in) และโทรศัพท์ระหว่างประเทศ +66 99 130 1300

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง