รีเซต

"พร้อมจ่าย" ทุกเงื่อนไข ทำไมการตลาดอินฟลูเอนเซอร์สะกดใจเราได้

"พร้อมจ่าย" ทุกเงื่อนไข ทำไมการตลาดอินฟลูเอนเซอร์สะกดใจเราได้
TNN ช่อง16
15 ตุลาคม 2567 ( 17:49 )
27

“ขายอะไรก็ซื้อ เพราะเป็นศิลปินที่ชื่นชอบ” เป็นหนึ่งในประโยคที่เกิดขึ้นในระหว่างการเผชิญหน้าของ “บอสพอล” วรัตน์พล วรัทย์วรกุล บอสใหญ่ของ 'ดิ ไอคอน กรุ๊ป' กับ ผู้เสียหายหลายคนในรายการสัมภาษณ์ของ The Standard  ปฏิกิริยาของผู้เสียหายที่มีต่อบุคคลที่ชื่นชอบทำให้เกิดคำถามตามมาว่าการใช้ดาราเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้า หรือธุรกิจนั้น  อิทธิพลของดารา นักแสดง หรือ ผู้มีชื่อเสียงมันมีผล หรือ อิทธิพลต่อการลงทุนขนาดนั้นเลยหรือ


ถ้ามองในแง่ของการทำโฆษณา หรือการตลาดเชิงจิตวิทยา ก็คงต้องตอบว่าใช่ ในข้อเท็จจริงการใช้ดารา หรือ ผู้มีชื่อเสียงมาใช้ในงานโฆษณาเพื่อช่วยกระตุ้นยอดการขายสินค้ามีมานานแล้ว โดยบทวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในเรื่องของปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการซื่อสินค้าตาม “อินฟลูเอนเซอร์” พบว่าการโฆษณาโดยใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงในลักษณะนำมาเสนอสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เป็นกลยุทธ์โฆษณาแม้จะใช้กันมานาน แต่ยังคงเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันเพียงแต่มีการปรับรูปแบบไปตามแพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้บริโภคเท่านั้น  เพราะนอกจากความน่าเชื่อถือ และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าแล้ว ยังสามารถดึงดูดและโน้มน้าวใจได้มากอีกด้วย  


----- ดารา ช่วยจูงใจกว่าโฆษณาปกติ 35% ------

ทั้งนี้พบว่าโฆษณาที่ใช้ดาราเป็นผู้แสดงในโฆษณา จะมีผู้จดจำได้มากกว่าโฆษณาปกติถึง 35% และมีความสามารถในการชักจูงใจสูงกว่าโฆษณาปกติถึง 10

 

ขณะที่เทคนิคทางการตลาดที่เน้นการสร้างกระแสโน้มน้าวใจผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งแทบจะทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ตลอดเวลาผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้ “อินฟลูเอนเซอร์” หรือ ผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์ กลายเป็นเครื่องมือการตลาดที่สำคัญของแบรนด์ต่างๆที่ต้องการกระตุ้นยอดขาย หรือ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับกับผู้บริโภค 

สำหรับ“อินฟลูเอนเซอร์”  มีหลายรูปแบบให้ธุรกิจได้เลือกตั้งแต่ Celebrity , Key Opinion Leaders (KOL) , Micro Influencer และ Nano Influencer

 

โดยความนิยมการใช้ อินฟูลเอนเซอร์เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2557 ที่มีการนิยมใช้ดารา ผู้มีชื่อเสียง รวมไปถึงบล็อกเกอร์ ที่จะมาสื่อสารผ่านรูปแบบการรีวิวสินค้าแบบใช้งานจริง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นสูงในการบริโภคสินค้า แต่ในระยะหลังเริ่มพบว่าผู้บริโภคแยกออกระหว่างพรีเซนเตอร์สินค้า กับผู้ใช้งานจริง จึงมีการจัดประเภทของอินฟูลเอนเซอร์ตามยอดผู้ติดตาม โดยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ  

Nano-influencer มีผู้ติดตาม 1,000 – 10,000 คน 

Micro-influencer มีผู้ติดตาม 10,000 – 50,000 คน 

Mid-tier influencer มีผู้ติดตาม 50,000 – 500,000 คน 

Macro-influencer มีผู้ติดตาม 500,000 – 1,000,000 คน 

Mega-influencer มีผู้ติดตาม 1,000,000 คนขึ้นไป 

 

---- คาดมูลค่าการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ 4.5 หมื่นล้าน --------------

จากข้อมูลของ Tellscore ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและที่ปรึกษาด้านอินฟลูเอนเซอร์ ระบุว่าการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดนในปี 2567 คาดว่าในปี 2567 ประเทศไทย มีขนาดตลาด Content Creators/ Influencers ประมาณการอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท   


นอกจากนี้ยังพบว่าการตลาดผ่านอินฟูลเอนเซอร์มีสถิติที่น่าสนใจอย่างมาก โดยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา Google รายงานว่ามีคนค้นหาคำว่า “Influencer Marketing” เพิ่มขึ้นถึง 1500%   ขณะที่ 69% ของแบรนด์ในปี 2567 มีการเพิ่มงบ Influencer Marketing ต่อเนื่องมาจากปีก่อน และ  82% ของแบรนด์ระบุว่าได้ผลลัพธ์ทางการตลาด เช่น ด้านยอดลูกค้าลงทะเบียน ดีกว่าจากวิธีการโฆษณา หรือวิธีทำการตลาดอื่นๆ   


ขณะที่สถิติจากตัวผู้บริโภคเองก็สอดคล้องกับมุมมองของแบรนด์สินค้า โดยพบว่า  63% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มจะซื้อสินค้าบริการจากคำแนะนำของอินฟลูเอนเซอร์ที่ตนรู้จักและเชื่อใจ  และ 80% ของผู้บริโภคในเอเชีย ที่มีการติดตามอินฟลูเอนเซอร์ มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าที่แนะนำโดยอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้น  สุดท้าย 55% ของผู้บริโภคระบุว่าส่วนลด และโปรโมชั่น ทำให้พวกเขาติดตามอินฟลูเอนเซอร์ ครีเอเตอร์


--- ดารา-ศิลปิน ตบเท้าสู่ตลาดอินฟูฯ เมื่ออุตสาหกรรมบันเทิงเข้าสู่ช่วงขาลง --------

แม้จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ก็มีการปรับตัวไปตามผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเอเจนซี่ และ แบรนด์สินค้าจะเลือกการใช้อินฟูลเอนเซอร์ในบทบาทที่แตกต่างกัน เช่น ให้ดารา นักแสดง สร้างความเชื่อถือ หรือ การสร้างการรับรู้ทางการตลาดของแบรนด์ และใช้ Micro-influencer ในการรีวิวสินค้ามากกว่า แต่เมื่อตลาดอินฟลูเอนเซอร์มีการแข่งขันมากขึ้นประกอบกับอุตสาหกรรมบันเทิงมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ดารา ศิลปินเริ่มมีงานน้อยลง ทำให้กลุ่มผู้มีชื่อเสียง เริ่มมีการปรับตัวเข้าสู่ตลาดอินฟูลเอนเซอร์มากขึ้น 

ส่งผลให้ผู้มีชื่อเสียง หรือ อินฟูลเอนเซอร์ ระดับท็อปโดยเฉพาะกลุ่มดารา-นักแสดง มีการปรับตัวในการรับงานประเภท รีวิว หรือ นำเสนอสินค้ามากขึ้นทั้งการทดลองใช้จริง หรือ การหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญในการรีวิวสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้การตลาดผ่านอินฟูลเอนเซอร์ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นจากเดิมที่มีสคริปต์หรือบทมาจากลูกค้าทั้งหมด หรือ เป็นส่วนใหญ่  กลายเป็นการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์กับอินฟลูเอนเซอร์ในการออกแบบคอนเทนต์ให้ตรงกับคาแรกเตอร์ของอินฟูลเอนเซอร์ และ กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น  

 

การนำเสนอสินค้าผ่านอินฟูลเอนเซอร์จึงกลายเป็นโจทย์ยากขึ้นของผู้บริโภคในการแยกแยะระหว่างพรีเซนเตอร์ กับ ผู้ทดลองใช้จริง เพราะนอกจากจะเป็นผู้ที่มีทักษะการแสดงสูง เป็นทั้งบุคคลที่หลายคนนิยมชมชอบ ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนในการการันตีสินค้า รวมไปถึงกระตุ้นให้เกิดการซื้อ หรือทำตามแล้ว  สินค้า หรือ ธุรกิจบางอย่างที่อาจเคยมีกำแพง ปิดใจ ก็กลับกลายเป็นเปิดใจ ยอมรับ และ เข้าสู่วังวนของธุรกิจโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เหมือนกับประโยคเปิดของบทความนี้ ที่ระบุว่า “ขายอะไรก็ซื้อ เพราะเป็นศิลปินที่ชื่นชอบ”



อ้างอิงบทความ : https://th.tellscore.com/th/Articles/Detail/Content_Creator_Thailand_Statistics2024

https://archive.cm.mahidol.ac.th/handle/123456789/545?mode=full

https://libdoc.dpu.ac.th/thesis/Nunnapas.Jar.pdf


Exclusive By วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNN Online  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง