รีเซต

สธ.เผยผู้ป่วยโควิดในระบบ 2 แสนราย สั่งเบ่งเตียงทั่ว ปท.รองรับ ส่งกลับภูมิลำเนาแล้ว 5 หมื่นราย

สธ.เผยผู้ป่วยโควิดในระบบ 2 แสนราย สั่งเบ่งเตียงทั่ว ปท.รองรับ ส่งกลับภูมิลำเนาแล้ว 5 หมื่นราย
มติชน
30 กรกฎาคม 2564 ( 15:13 )
50
สธ.เผยผู้ป่วยโควิดในระบบ 2 แสนราย สั่งเบ่งเตียงทั่ว ปท.รองรับ ส่งกลับภูมิลำเนาแล้ว 5 หมื่นราย

 

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ของประเทศไทย ว่า สถานการณ์กรุงเทพมหานครล่าสุด ยังมีผู้ติดเชื้อระดับสูง และจะมีต่อไปอีกระยะ การที่เราจะดูแลชุมชนได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งการแพทย์สาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคง ภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนทุกคน ในการก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปให้ได้ ขณะนี้ทั่วโลกมีการระบาดรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง มีการติดเชื้อมากกว่า 6 แสนรายต่อวัน รวมติดเชื้อสะสมกว่า 198 ล้านราย ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก คาดว่าอีกไม่กี่วันจะมีการติดเชื้อแตะ 200 ล้านราย ตัวเลขผู้เสียชีวิตมากขึ้น รวมถึงเพื่อนบ้านไทยและประเทศไทย

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย วันนี้ยังติดเชื้อกว่า 1.7 หมื่นราย มีการส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาแล้ว 5 หมื่นราย ทำให้ยอดติดเชื้อในภูมิภาคมีมากขึ้น แต่ไม่ได้แพร่เชื้อ เพราะเมื่อส่งกลับแล้วเข้าสู่ระบบการดูแลในโรงพยาบาล (รพ.) และการดูแลที่บ้าน หรือในชุมชน ทั้งนี้ ขณะนี้การดูแลผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขเกือบ 2 แสนราย สถานการณ์ในรายสัปดาห์ ยังทรงๆ อย่างไรก็ตาม การให้การรักษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ สธ. ให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วที่สุด โดยขณะนี้มีการสำรองยาในเดือนสิงหาคม จำนวน 40 ล้านเม็ด เดือนกันยายน 40 ล้านเม็ด ถือว่ามากพอสมควร ขณะนี้ได้ส่งกระจายไปภูมิภาคเพื่อสำรองไว้แล้ว คนไข้ไม่ว่าจะอยู่ใน รพ. และอยู่ในระบบการดูแลตามบ้าน ระบบการดูแลในชุมชน มีโอกาสได้รับยา จะทำให้การรักษาสามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มต้น ลดการป่วยหนัก และเสียชีวิต พร้อมกับมาตรการการฉีดวัคซีนได้

 

 

 

“ขณะนี้เรามีเตียงดูแลผู้ป่วยปกติกว่า 1 แสนเตียง ปัจจุบัน มีการปรับเตียงและทำเพิ่มเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 รวม 1.35 แสนเตียง เฉพาะกรุงเทพฯ 4 หมื่นเตียง รวมทั้งประเทศ 1.7 แสนเตียง ใช้ทั้งหมดร้อยละ 80 กรุงเทพฯ ร้อยละ 90 สถานการณ์และแนวโน้มที่ต้องใช้บุคลากรไม่สามารถจะเพิ่มเตียงได้มากกว่านี้ แต่คำตอบหนึ่งคือ การเชื่อมระบบสาธารณสุข ให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) และแยกกักในชุมชน (Community Isolation) หากอาการมากขึ้นก็ส่งเข้า รพ.ต่อไป เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการใช้ชุดตรวจเร็ว (ATK) ทำให้ดักจับผู้ติดเชื้อในชุมชนได้มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่อยากให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสม โดยมีทีม CCRT เข้าไปดูแลในชุมชนด้วย ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนในกลุ่มเปราะบาง” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง