อยากรอดจากติดเชื้อโควิด นอกจากฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ต้องทำสิ่งเหล่านี้?
วันนี้ (29 ก.ค.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า 29 กรกฎาคม 2565...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 783,723 คน ตายเพิ่ม 1,659 คน รวมแล้วติดไป 579,212,523 คน เสียชีวิตรวม 6,413,619 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 73.24 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 49.72
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...การเสียชีวิตจากโควิด-19 ของไทยยังสูง
ข้อมูลจาก Ourworldindata เปรียบเทียบให้เห็นชัดเจน
ค่าเฉลี่ยรอบ 7 วันของจำนวนเสียชีวิตต่อประชากรล้านคนของไทยเรานั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเกือบ 2 เท่า
และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชียราว 7 เท่า
...ประเทศทั่วโลกต่างโดน Omicron ระบาดอย่างกว้างขวาง แต่สัดส่วนของสายพันธุ์ย่อยก็มีความแตกต่างกันไป (ข้อมูลสัดส่วนของสายพันธุ์ย่อยในภาพนั้น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทยมีข้อมูลถึงเพียง 4 กรกฎาคม 2565)
ปัจจุบัน BA.4/BA.5 ครองการระบาด ในขณะที่สายพันธุ์ย่อยที่ระบาดมาก่อนอย่าง BA.1 และ BA.2 ลดลงตามลำดับ
เป็นที่ทราบกันดีว่า ความรู้ล่าสุดจากการศึกษาวิจัยได้ฟันธงแล้วว่า BA.5 นั้น รุนแรงกว่า BA.2 ถึง 2-3 เท่า โดยพิจารณาจากผลของการทำให้คนติดเชื้อป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าจำนวนการเสียชีวิตก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน
...ภาวะระบาดร่วม (Syndemic) ของโควิด-19 และฝีดาษลิง
การจะรักษาชีวิตตัวเราให้รอดพ้นการติดเชื้อของทั้งสองโรคคงไม่สามารถตั้งโปรแกรมสมองให้คิดและทำแบบแยกโรคได้ เพราะแค่ต้องเอาตัวรอด ทำมาหากิน ศึกษาเล่าเรียน ใช้ชีวิตในแต่ละวันที่ต้องผจญภัยคุกคามทั้งโรคระบาด ยาเสพติด และวิกฤติเศรษฐกิจ ก็ยากมากแล้ว
นอกเหนือไปจากความจำเป็นที่เราควรไปฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นกันให้ครบถ้วนตามกำหนดแล้ว
ควรนำข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้ไปประยุกต์ใช้เป็นกิจวัตร
1. ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเวลาตะลอนนอกบ้าน
2. พกสเปรย์แอลกอฮอล์ ไว้ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของสาธารณะ และใช้ฉีดพ่นเพื่อฆ่าเชื้อบริเวณอุปกรณ์ในสุขาสาธารณะก่อนสัมผัสหรือก่อนใช้งานทุกครั้ง
3. ไม่แชร์ของกิน ของใช้ และเสื้อผ้า ร่วมกับผู้อื่น
4. ระมัดระวังเรื่องการมีเพศสัมพันธ์นอกครอบครัว ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ไม่มั่วเพศ หรือมีความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือที่เพิ่งรู้จัก ไม่ว่าจะไทยกันเอง รวมถึงชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยว และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่น่าสงสัย เช่น ตุ่ม ผื่น แผลต่างๆ
5. เมื่อใดที่มีอาการไม่สบาย ควรรีบตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน ก่อนจะกลับไปทำงานหรือศึกษาเล่าเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เราเป็นคนไปแพร่เชื้อใดๆ ต่อคนอื่นในสังคมอย่างต่อเนื่อง
ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ใส่ใจสุขภาพ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ก็จะเป็นการใช้ชีวิตที่มีโอกาสอยู่รอดปลอดภัย และดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ว่าภาวะคุกคามใดจะมาเยือนก็ตาม
ระลึกไว้เสมอว่า กิเลส ความประมาท ความงมงาย จะนำไปสู่วิกฤติเสมอ ดังที่เราเห็นบทเรียนต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ภาพจาก AFP