รีเซต

"ธปท." ระบุ 3 เดือนช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยได้แล้วว่า 11 ล้านบัญชี

"ธปท." ระบุ 3 เดือนช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยได้แล้วว่า 11 ล้านบัญชี
มติชน
1 กรกฎาคม 2563 ( 18:20 )
58

“ธปท.” ระบุ 3 เดือนช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยได้แล้วว่า 11 ล้านบัญชี

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน การออกมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำในระยะแรกจึงมุ่งช่วยเหลือประชาชนในวงกว้างเป็นการทั่วไป ซึ่งมาตรการช่วยเหลือส่วนหนึ่งได้ครบกำหนดเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธปท. ได้ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการทางการเงินอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 11.5 ล้านบัญชี1/ จากบัญชีสินเชื่อรายย่อยทั้งหมดประมาณ 35 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่เป็นบัญชีบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล คิดเป็นมูลหนี้รวม 3.8 ล้านล้านบาท ซึ่งพบว่าลูกหนี้ ส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือในลักษณะจ่ายเงินค่างวดที่ลดลง และบางส่วนได้รับการเลื่อนการชำระหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ นอกจากนี้ ผู้ให้บริการทางการเงินจำนวนมากยังให้ความช่วยเหลือมากกว่ามาตรการขั้นต่ำที่ ธปท. กำหนด ตามกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ

นายรณดลกล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นมาเป็นลำดับ โดยความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วนทำให้ไม่มีการติดเชื้อในประเทศมาเป็นเวลานาน และทางการเริ่มผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี ธปท. และผู้ให้บริการทางการเงินยังตระหนักว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง และยังคงมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและอาจยืดเยื้อ ทำให้ลูกหนี้บางกลุ่มยังต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง ธปท. จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 ซึ่งเป็นมาตรการที่ให้ประชาชนเลือกที่จะเข้าร่วม (opt-in) โดยผู้ให้บริการทางการเงินจะต้องจัดให้มีทางเลือกของความช่วยเหลือ ให้กับลูกหนี้แต่ละกลุ่มเพื่อสามารถเลือกให้เหมาะกับกระแสรายได้ที่เปลี่ยนไปมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้ต่อเดือนลดลง หรือหากเป็นการเลื่อนชำระหนี้ ก็จะมีการติดต่อลูกหนี้ในระหว่างที่เลื่อนชำระหนี้ เพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถของลูกหนี้ต่อไป

นอกจากนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน และให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลง ธปท. ยังได้ปรับลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต จากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 16 สินเชื่อส่วนบุคคล จากร้อยละ 28 เหลือร้อยละ 25 และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จากร้อยละ 28 เหลือร้อยละ 24 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป

นายรณดลกล่าวว่า ธปท. มีกลไกติดตามเพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินมีกระบวนการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เพื่อเสนอทางเลือกในการช่วยเหลือได้ตามความเหมาะสมกับลูกหนี้ และให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อสิ้นสุดมาตรการการให้ความช่วยเหลือแล้ว จะไม่ทำให้ภาระหนี้ของลูกหนี้เร่งขึ้นจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ และไม่ส่งผลให้ระดับหนี้เสียของผู้ให้บริการทางการเงินพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็ง โดยมีระดับเงินกองทุนและสภาพคล่องสูง สามารถรองรับการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะข้างหน้าได้ ธปท. และผู้ให้บริการทางการเงินยังคงทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ก้าวข้ามผ่านช่วงที่ยากลำบากนี้ไปได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง