รีเซต

นายกชาวนาแฮปปี้ ประกันรายได้ข้าว ขอต่อโครงการอีก

นายกชาวนาแฮปปี้ ประกันรายได้ข้าว ขอต่อโครงการอีก
มติชน
18 กุมภาพันธ์ 2565 ( 07:08 )
53
นายกชาวนาแฮปปี้ ประกันรายได้ข้าว ขอต่อโครงการอีก

วงจรข้าวไทยเป็นเรื่องสำคัญในแต่ละปีที่ถูกจับตามองว่าจะเกิดอะไรขึ้น แนวโน้มผลผลิตและราคาเป็นอย่างไร รวมถึงมาตรการของภาครัฐจะออกมาอย่างไร

 

เพื่อให้กระจ่างในเรื่องนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จัดสัมมนา “ประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้า” ในวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่มี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเสวนาและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ประกันรายได้พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย”

 

จากนั้นฟังแนวทางและมุมมองต่อสินค้าเกษตร 5 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากอธิบดีกรมการค้าภายในและผู้เชี่ยวชาญภาคเกษตร ซึ่งการสัมมนาจัด ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง ผ่านเฟซบุ๊กเครือมติชน ไลน์มติชน ไลน์ข่าวสด และยูทูบมติชนทีวี ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น.

 

ในส่วนของแนวโน้มวงจรข้าวไทยปีนี้ “ปราโมทย์ เจริญศิลป์” นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย หนึ่งในผู้เสวนาในฐานะอาชีพชาวนา สะท้อนภาพให้เห็นว่า สถานการณ์ข้าวในปีการผลิต 2564/2565 สำหรับข้าวเปลือกนาปีที่เก็บเกี่ยวปลายปีที่ผ่านมามีอุปสรรคนิดหน่อยเพราะเจอฝน ข้าวเปลือกจึงมีความชื้นสูง ส่งผลให้ราคาตกลงเหลือกิโลกรัม (กก.) ละ 6-7 บาท ซึ่งเป็นไปตามปกติ ไม่ได้เป็นปัญหามาก เมื่อข้าวมีความชื้นสูงจะได้น้ำหนักมากแต่ไม่ได้ราคา

 

“อย่างไรก็ตาม ชาวนามีประกันรายได้ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้ามาช่วยเกษตรกร ถือเป็นการดี เพราะถ้าไม่มีโครงการนี้และราคาข้าวตกต่ำจะเป็นปัญหากับเกษตรกรได้” นายกสมาคมชาวนาระบุ

 

ส่วนราคาข้าวแบ่งตามประเภทคือข้าวเหนียวนาปี อยู่ที่ กก.ละ 7-8 บาท ข้าวขาวทั่วไป กก.ละ 6-7 บาท และข้าวพื้นนุ่ม กก.ละ 7-8 บาท ราคาถือว่าต่ำ ชาวนาบางส่วนก็มีบ่นบ้าง แต่สมาคมได้ชี้แจงแล้วว่าต้องดูที่ความชื้นด้วย เมื่อข้าวที่นำมาขายมีความชื้นสูงต้องยอมรับราคากันไปตามที่กำหนดไว้ เพราะก่อนหน้านี้เป็นช่วงหน้าฝนพอดี ความชื้นจึงสูง แต่ตอนนี้ไม่ใช่หน้าฝนแล้ว และเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง จึงเห็นได้ว่าราคาดีขึ้นถึงเกวียนละกว่า 8 พันบาท หรือ กก.ละกว่า 8 บาท ถือว่าราคาดีขึ้น

 

ยิ่งตอนนี้สมาคมร่วมโครงการผลักดันส่งออกข้าวไทยที่ได้รับการประสานจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ช่วงแรกคาดว่าปีนี้จะส่งออกข้าวสารได้ รวม 6 ล้านตัน ตอนนี้คิดว่าเพิ่มเป็น 7 ล้านตัน เพราะสถานการณ์ของโควิด-19 เบาบางลงแล้ว หลายประเทศหันมาซื้อข้าวไทยเพิ่ม ที่ได้รับความสนใจมากคือ ข้าวพื้นนุ่มและข้าวหอมมะลิของไทย เชื่อว่าจะส่งออกได้เยอะขึ้นในปีนี้ ขอยืนยันข้าวของไทยมีคุณภาพดีกว่าของเวียดนาม หรือทุกประเทศที่ผลิตข้าว ยิ่งมีราคาใกล้เคียงกันผู้นำเข้าจะสนใจข้าวไทยมากกว่า

 

ที่ต้องมาดูกันคือต้นทุนเพาะปลูกสูงไปบ้าง หลักๆ คือราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช ที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่เกษตรกรยังคงทำนาต่อ เพราะถ้าราคาข้าวเปลือกเฉลี่ยเกิน 8 พันบาท/เกวียน ถือว่าอยู่ได้ แต่ในอนาคตอยากให้รัฐบาลช่วยควบคุมราคาน้ำมัน ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช ที่สำคัญคือหาแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือที่กักเก็บน้ำไว้ เพราะปีที่ผ่านมา ฝนตกใต้เขื่อนเลยกักเก็บน้ำได้น้อย ถ้าเป็นไปได้รัฐช่วยขุดบ่อน้ำบาดาลเพราะถ้าขาดน้ำจะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้ารัฐบาลทำได้ตามที่ร้องขอรับรองเลยว่าชาวนาอยู่ได้ น้ำดีผลผลิตก็มาก ปีนี้คาดว่าผลผลิตรวมข้าวเปลือกกว่า 30 ล้านตันแน่นอน

 

“ก็ต้องขอบคุณรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ สำหรับโครงการประกันรายได้ ซึ่งช่วยเกษตรกรอย่างมาก และเกษตรกรยังร้องขอว่าอยากให้มีโครงการต่อไปเรื่อยๆ ถ้าหากไม่มีโครงการประกันรายได้และปล่อยให้ชาวนาขายข้าวเองกับพ่อค้าคนกลาง ชาวนาจะอยู่ไม่ได้ เพราะราคาข้าวเปลือกตกลงไปเหลือ กก.ละ 5-6 บาท เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่อไร่ก็ใช้เงิน 4-5 พันบาทแล้ว ดังนั้น โครงการประกันรายได้เกษตรกรจึงเป็นโครงการที่ดี สะท้อนจาก 3 ปีที่ดำเนินมา ทำให้ความเป็นอยู่เกษตรกรดีอยู่ แม้เจอปัญหาโควิดระบาดและต้นทุนผลิตแพงขึ้น ถ้าไม่มีโครงการประกันรายได้ก็แย่ จึงอยากให้รัฐทำโครงการนี้ต่อไป ไม่ว่าจะพรรคหรือรัฐบาลใดก็ตาม” นายกสมาคมชาวนาขอให้สานต่อโครงการประกันรายได้

 

อย่างไรก็ตาม โครงการประกันรายได้ที่ดำเนินต่อไป อยากให้ทบทวนตามความเป็นจริง กำหนดราคาข้าวแต่ละประเภทว่าควรราคาเท่าไร และปรับราคาไม่ให้ต่ำไป รวมถึงต้องเหมาะสมกับการส่งออกด้วย ซึ่งราคาปัจจุบันกำลังพอดี คือข้าวเปลือกเจ้า อยู่ที่ 8 พันบาทต่อตัน ข้าวหอมปทุมธานี อยู่ที่ 9 พันบาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิ อยู่ที่ 1.1 หมื่นบาทต่อตัน และข้าวเหนียว อยู่ที่ 1.1 หมื่นบาทต่อตัน

 

อีกเรื่องที่กำลังเข้ามามีบทบาทคือ การพัฒนาและผลิตข้าวพื้นนุ่มที่หลายประเทศมีความต้องการเพื่อบริโภคสูงขึ้นต่อเนื่อง กำลังมีอิทธิพลต่อการเพาะปลูก ปัจจุบันข้าวพื้นนุ่มที่ผลิตออกมา ได้แก่ พันธุ์ กข79 และพันธุ์ กข87 ซึ่งสมาคมผลักดันให้สมาชิกแต่ละจังหวัดปลูกข้าวพื้นนุ่มเพิ่มให้สอดรับกับความต้องการ แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งข้าวพื้นแข็ง

 

ส่วนข้าวหอมมะลิ 105 ยังเพาะปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน ส่วนภาคกลางปลูกข้าวพื้นนุ่ม กข79 อย่างแพงเพชร เริ่มได้ผลผลิตต่อไร่กว่า 1 ตัน ส่วนสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ กำลังปลูกเป็นข้าวพื้นแข็ง กข85 และข้าวพื้นนุ่ม อย่างข้าวหอมปทุมธานี ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าข้าวไทยแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างแน่นอน แถมคุณภาพข้าวของเราถือว่าน่าจะดีกว่า รวมถึงราคาลดลงมาอยู่ใกล้เคียงกัน จะทำให้ความต้องการจากต่างประเทศมากขึ้นแน่นอนปัจจุบันชาวนาไทยมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ดี อาทิ เทคโนโลยีการตีหน้าดินด้วยเครื่องจักรคุณภาพ ส่วนการพ่นยา หรือใส่ปุ๋ยก็จะใช้โดรนเข้ามาช่วย และการเก็บเกี่ยวข้าวก็จะใช้รถเก็บเกี่ยว ไม่ต้องใช้แรงคนจำนวนมากอย่างแต่ก่อนแล้ว และเกษตรกรเองไม่ต้องเสี่ยงกับการที่จะต้องรับสารเคมีต่างๆ ด้วย ในอนาคตอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพิ่มเติม คือเครื่องอัดฟาง ช่วยลดการเผาฟางข้าวเพื่อทำลายทิ้ง ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ พีเอ็ม 2.5 และนำฟางที่อัดก้อนนี้ไปขายต่อได้

 

ส่วนผลผลิตข้าวปี 2565 ถือว่าดี เพราะปีนี้ไม่ขาดน้ำ มีปัญหาแค่ไม่กี่จังหวัดเพราะประสบภัยน้ำท่วม เช่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ในอนาคตต่อไปข้างหน้าอยากจะให้ศูนย์วิจัยข้าว หรือกรมการข้าว วิจัยข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติมให้ชาวนาไทยนำไปปลูก สามารถจะแข่งขันกับข้าวต่างประเทศได้ ถ้าชาวนาใช้เมล็ดพันธุ์เดิมๆ ซ้ำๆ อาจจะทำให้พันธุ์ข้าวมันกลายพันธุ์ ผลผลิตไม่สวย มีเม็ดสีแดง เป็นต้น

 

ผลผลิตข้าวปีนี้กว่า 30 ล้านตันแน่นอน คาดว่าผลิตต่อไร่เกิน 800 ตัน ส่วนทิศทางราคาข้าวขาวเริ่มต้นที่ 7.4 พันบาทต่อตัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 8 พันบาทต่อตัน ซึ่งชาวนาอยู่ได้ ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลช่วยคุมเรื่องราคาน้ำมัน ปุ๋ยและยาด้วย และช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ โดยการพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเพื่อช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืนด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง