รีเซต

Web 3.0 แนวคิดเว็บไซต์ยุคใหม่ไร้ศูนย์กลางกระจายอำนาจให้ผู้ใช้งาน

Web 3.0 แนวคิดเว็บไซต์ยุคใหม่ไร้ศูนย์กลางกระจายอำนาจให้ผู้ใช้งาน
TNN ช่อง16
18 กุมภาพันธ์ 2565 ( 16:17 )
93

การใช้งานเว็บไซต์และการใช้บริการออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ กลายเป็นเรื่องปกติยุคปัจจุบันแต่เทคโนโลยีนั้นมีการพัฒนาขึ้นตลอดเวลาและโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเริ่มต้นของ Web 3.0 สิ่งที่เคยเป็นเพียงแนวคิดในอดีตเนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตในยุคนั้นกำลังถูกพัฒนาขึ้นและอาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกิจและรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ 


Web 1.0 และ Web 2.0 ยุคเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ต


Web 1.0 หรืออินเทอร์เน็ตในยุคเริ่มต้นสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) เว็บไซต์แต่ละเว็บถูกระบุที่อยู่ด้วย URL ที่ต้องใช้ซอฟต์แวร์เว็บเบราว์เซอร์ในการเปิดเพื่อเข้าถึงข้อมูลบนเว็บไซต์นั้น ๆ การแสดงผลของเว็บไซต์ในรูปแบบนี้ถูกเรียกว่า Static Web Page ยังคงเป็นการแสดงข้อมูลแบบพื้นฐานข้อความและรูปภาพ ผู้ใช้งานยังไม่สามารถโต้ตอบหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเว็บไซต์ แม้จะไม่มีการแบ่งช่วงเวลาที่ชัดเจนของ Web 1.0 แต่คาดว่าอยู่ในช่วงปี 1990-2000


Web 2.0 เมื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเว็บไซต์ที่มีลักษณะเป็น Static Web Page ไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างเพียงพอจึงมีการพัฒนาเว็บไซต์ในลักษณะที่เรียกว่า Dynamic Web Page รูปแบบการแสดงข้อมูลบนเว็บไซต์มีความหลากหลายมากขึ้น เริ่มมีการเก็บข้อมูลผู้ใช้ พฤติกรรมการใช้งานหน้าเว็บไซต์เพื่อนำไปสร้างมูลค่าทางธุรกิจและการพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสิทธิในข้อมูลที่ถูกบันทึกเอาไว้เป็นของเจ้าของเว็บไซต์ ตัวอย่าง Web 2.0 เช่น การใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) บริการดันภาพยนตร์และฟังเพลงออนไลน์ 


แนวคิดของ Web 3.0 เน้นการกระจายอำนาจและไร้จุดศูนย์กลาง


แนวคิดของ Web 3.0 ที่ได้รับการยอมรับและถูกอ้างอิงมากที่สุดแบ่งออกเป็น 2 แนวคิดหลักด้วยกัน โดยทั้ง 2 แนวคิดมีสิ่งที่เหมือนกันตรงที่เน้นการกระจายอำนาจและการไร้จุดศูนย์กลาง แม้จะมีความแตกต่างกันในละเอียด


แนวคิดแรกเริ่มต้นจากทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) ผู้ก่อตั้งองค์กรเว็บไซต์สากล (World Wide Web Consortium หรือ W3C) ในช่วงปี 2001 ซึ่งกล่าวถึง Web 3.0 ที่มีลักษณะกระจายอำนาจให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กระบวนการทำงานที่ไม่มีเซิร์ฟเวอร์กลาง (Decentralized) กระบวนการพัฒนาระบบเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน (Bottom-up Design) และการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดยใช้ฉันทมติร่วมกันเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานมีโอกาสตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เกิดขึ้น (Consensus) อย่างไรก็ตามแนวคิดแรกนี้เป็นกล่าวโดยภาพรวมสิ่งที่อาจเกิดขึ้นยังไม่สามารถระบุถึงรายละเอียดเชิงเทคโนโลยีได้


แนวคิดที่สองถูกนิยามโดยดร. เกวิน วูด (Dr.Gavid Wood) วิศวกรคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum บล็อกเชนสำหรับการทำสัญญาอัจฉริยะแบบโอเพนซอร์ซ ผู้สร้าง Polkadot บล็อกเชนที่ต้องการเชื่อมต่อบล็อกเชนอื่น ๆ เข้าไว้ด้วยกันและผู้ก่อตั้ง Web 3.0 Foundation เนื่องจากดร. เกวิน วูด (Dr.Gavid Wood) มีความเชี่ยวชาญในด้านของเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้นิยามแนวคิด Web 3.0 มีความคล้ายกับการทำงานของ Ethereum เครือข่ายบล็อกเชน (Blockchain) ที่เขามีส่วนตัวในการพัฒนาขึ้นมาสามารถแบ่งการทำงานออกเป็น 5 เลเยอร์ (Layer) เริ่มจากกระบวนการรับข้อมูล การนำข้อมูลไปเข้ารหัสและจัดเก็บข้อมูลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ การพัฒนาแอปพลิเคชันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อใช้งานบนเครือข่ายและการเชื่อมต่อระหว่างข้อมูลและผู้ใช้งาน

 

เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)  


การทำงานของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีความสอดคล้องกับการอธิบายแนวคิดของ Web 3.0 ที่กล่าวมาข้างต้นก่อนหน้านี้มากที่สุด โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนใช้การจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายไปยังเครือข่ายคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ทั่วโลกแบบไร้ศูนย์กลางตรงกับแนวคิดการกระจายอำนาจ (Decentralized) การเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายคล้ายโซ่ (Chain) เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลเพื่อร่วมในการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งตรงกับแนวคิดการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน (Bottom-up Design) และการตรวจสอบ (Consensus) ทำให้เครือข่ายบล็อกเชนมีความแข็งแกร่ง ปลอดภัยยากต่อการทำลายหรือปลอมแปลงข้อมูล แม้เทคโนโลยีบล็อกเชนจะมีข้อดีหลายอย่างแต่เครือข่ายบล็อกเชนบางแห่งก็ไม่ได้รับการยอมรับว่ามีการกระจายอำนาจ (Decentralized) อย่างแท้จริงและถูกควบคุมโดยบางหน่วยงานหรือบริษัทเอกชนบางแห่ง 


การใช้งาน Web 3.0 


ปัจจุบันยังไม่การนำแนวคิดของ Web 3.0 มาใช้งานอย่างสมบูรณ์แบบเน้นการกระจายอำนาจและไร้จุดศูนย์กลางอย่างแท้จริง 100% สิ่งที่ใกล้เคียงแนวคิดของ Web 3.0 มากที่สุดในตอนนี้อาจเป็นการใช้งานกุญแจส่วนบุคคล หรือ Private Key, เงินดิจิทัล (Cryptocurrency) และโลกเสมือนจริง Metavers 


1. กุญแจส่วนบุคคล หรือ Private Key ที่มีการเข้ารหัสข้อมูล (Encryption) เพื่อความปลอดภัยเอาไว้ผู้ใช้งานแต่ละคนเป็นเจ้าของกุญแจ Private Key ของตัวเองอย่างแท้จริงผ่านการยืนยันตัวตนรูปแบบออนไลน์และข้อมูลถูกบันทึกลงเครือข่ายบล็อกเชนที่ยากต่อการปลอมแปลงหรือถูกทำลาย ผู้ใช้งานที่มีกุญแจส่วนบุคคลสามารถนำไปใช้งานเพื่อเข้าสู่ระบบต่าง ๆ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) เกมออนไลน์ในรูปแบบ Play to Earn บริการทางการเงินรูปแบบใหม่บนบล็อกเชน Defi การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล NFT รวมไปถึงแอปพลเคชันอื่น ๆ อีกมากมายในอนาคตที่เลือกใช้การเข้าสู่ระบบโดยใช้กุญแจส่วนบุคคล หรือ Private Key   


2. เงินดิจิทัล (Cryptocurrency) การเข้ารหัสคอมพิวเตอร์ทำงานบนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ไม่ได้มีลักษณะเป็นวัตถุสิ่งของที่จับต้องได้ด้วยมือในแบบสกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) อย่างไรก็ตามเงินดิจิทัลบางสกุลเงินก็ไม่ได้รับการยอมรับว่ามีการกระจายอำนาจให้ผู้ใช้งาน (Decentralized) อย่างแท้จริงและถูกสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลด้านการเก็งกำไร 


3. โลกเสมือนจริง Metaverse อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการติดต่อสื่อสารรูปแบบใหม่และมีการนำแนวคิดของ Web 3.0 บางอย่างมาใช้งานแต่ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าโลกเสมือนจริง Metaverse ตรงตามแนวคิดของ Web 3.0 แม้ผู้พัฒนาโลกเสมือนจริง Metaverse บางแห่งพยายามเปิดให้ผู้ใช้นำกุญแจส่วนบุคคล หรือ Private Key มาใช้ในการเข้าสู่ระบบหรือเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสร้างผลงานอาคารสถานที่บนโลกเสมือนจริงเพื่อจัดกิจกรรมและจำหน่ายสินทรัพย์ดิจิทัล NFT อย่างไรก็ตามไม่ใช่ผู้พัฒนาโลกเสมือนจริง Metaverse ทุกรายที่เลือกใช้วิธีการเข้าสู่ระบบด้วยกุญแจส่วนบุคคลและประเด็นสำคัญ คือ โลกเสมือนจริง Metaverse ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยบริษัทเอกชนที่สามารถควบคุมได้เกือบทั้งหมดยังไม่สามารถกระจายอำนาจให้ผู้ใช้งาน (Decentralized) อย่างแท้จริง


ข้อมูลจาก blog.chain.link, web3.foundation, Finnomena.com, Zipmex.com, Dom Charoenyos

ภาพจาก pixabay.com


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง