รีเซต

ไฟไหม้ ทำอย่างไร? รู้จัก กระจายของเปลวไฟ - ลักษณะควันไฟ การปฐมพยาบาล

ไฟไหม้ ทำอย่างไร? รู้จัก กระจายของเปลวไฟ - ลักษณะควันไฟ การปฐมพยาบาล
TNN ช่อง16
7 กรกฎาคม 2567 ( 11:26 )
26

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีปฏิบัติตนและอพยพออกที่เกิดเพลิงไหม้อย่างปลอดภัย ลดอันตรายจากไฟคลอก การสำลักควันไฟและความร้อนจากเปลวไฟเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากเหตุเพลิงไหม้ ขอแนะข้อควรรู้และวิธีปฏิบัติในการอพยพหนีไฟ มีดังนี้


ระยะเวลาการกระจายของเปลวไฟ


-ระยะเวลา 1 นาที ไฟจะเริ่มกระจายไปทั่วห้อง
-ระยะเวลา 2-4 นาที ควันไฟและเปลวไฟ จะเริ่มกระจายเป็นวงกว้าง
-ระยะเวลา 5 นาที ควันไฟ ความร้อนและก๊าซพิษ จะทำให้ผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้เสียชีวิตได้ โดยระยะเวลาอพยพหนีไฟไหม้ที่ปลอดภัย จะอยู่ในช่วง 2 นาทีแรกนับตั้งแต่เกิดไฟไหม้


ภาพจาก ปภ.


รู้ลักษณะควันไฟ 


การสำลักควันไฟและความร้อนจากเปลวไฟเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ เพื่อความปลอดภัย
-หากเป็นควันไฟพุ่งออกมาจากช่องประตูและหน้าต่างอย่างรวดเร็ว แสดงว่า ต้นเพลิงอยู่ใกล้บริเวณนั้น
-ควันสีดำและเคลื่อนที่เร็ว แสดงว่าตัวเราอยู่ใกล้ต้นเพลิง
-ควันสีจางและเคลื่อนที่ช้า แสดงว่าอยู่ไกลจากต้นเพลิง

-ควันไฟหนาแน่น แสดงว่า เพลิงไหม้บริเวณดังกล่าวมีก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
-ควันไฟสีดำหนาแน่น แสดงว่า มีแนวโน้นที่ควันอาจจะลุกติดไฟกลายเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ และมีการเผาไหม้ต่อเนื่องในจุดที่ห่างออกมาจากต้นเพลิง


ภาพจาก ปภ.




วิธีเอาตัวรอดถูกวิธี เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้


-ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก มองหาเส้นทางออกจากจุดเกิดเหตุใกล้ที่สุด
-หากเพลิงไหม้เล็กน้อย ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงเบื้องต้น เพื่อไม่ให้ไฟลุกลาม
-หากเพลิงไหม้รุนแรง กดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ อพยพออกจากพื้นที่ และโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิงทันที
-ใช้บันไดหนีไฟที่ใกล้ที่สุด ห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาด ใช้ผ้าชุมน้ำปิดจมูกและปาก หมอบคลานต่ำให้ตัวใกล้กับพื้นมากที่สุด เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์อยู่เหนือระดับพื้นไม่เกิน 1 ฟุต 


ภาพจาก ปภ.


ข้อควรรู้ในการอพยพหนีไฟ 


ไม่เข้าไปอยู่ในบริเวณจุดอับของอาคาร อาทิ ห้องใต้ดิน เพราะยากต่อการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ ไม่หนีเข้าไปอยู่ในห้องน้ำ เพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดับไฟ ทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้ ไม่ขึ้นไปอยู่ชั้นบนหรือดาดฟ้าของอาคาร เพราะไฟจะลุกลามจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถอพยพหนีไฟลงสู่ชั้นล่างได้ 


กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้าให้รีบถอดเสื้อผ้า หรือใช้วิธีนอนราบกับพื้นและกลิ้งตัวไปมาให้ไฟดับ ห้ามวิ่งอย่างเด็ดขาด เพราะไฟจะลุกลามเร็วขึ้น ห้ามกลับเข้าไปในอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ เพราะอาจถูกไฟคลอกหรือได้รับอันตรายจากโครงสร้างอาคารที่อาจพังถล่มลงมา ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนและอพยพหนีไฟอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ทำให้สามารถเอาตัวรอดจากเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างปลอดภัย


ภาพจาก ปภ.


วิธีปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้ ข้อมูลจาก รพ.ขอนแก่นราม


-ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ หรือเปิดน้ำให้ไหลผ่าน หรือแช่อวัยวะส่วนที่เป็นแผลลงในน้ำสะอาดประมาณ 15-20 นาที หรือจนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนจะลดลง
-ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าแห้งสะอาด
-ถ้ายังมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรืออาการเป็นมากขึ้น ผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใส หรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

ข้อควรทราบ และพึงระวัง


-ห้ามใส่ตัวยาหรือครีมใดๆ ทาลงบนบาดแผลถ้ายังไม่แน่ใจในสรรพคุณที่ถูกต้องของยาชนิดนั้น และห้ามใช้ยาสีฟัน น้ำปลา เครื่องปรุง หรือยาหม่องทา เพราะอาจติดเชื้อและรักษายากขึ้น
-ถ้าไฟไหม้ น้ำร้อนลวกบริเวณใบหน้า จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะบริเวณใบหน้ามักจะเกิดอาการระคายเคืองจากยาที่ใช้ ห้ามใส่ยาใดๆ ก่อนถึงมือแพทย์ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการตอบสนองต่อตัวยาไม่เหมือนกัน จะต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
-บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่เกิดในเด็กและผู้สูงอายุ ถึงแม้จะมีขนาดไม่กว้างมาก แต่ก็อาจมีอันตรายมากกว่าที่พบในคนหนุ่มสาว ดังนั้นแนะนำส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลทุกราย

ระดับความรุนแรงของแผลไหม้ แบ่งตามความลึกของแผลได้ 3 ระดับคือ

-แผลไหม้ระดับแรก - First degree burn ผิวหนังมีสีแดง ไม่มีถุงน้ำพองใส มีอาการปวดแสบ และกดเจ็บ
-แผลไหม้ระดับที่สอง - Second degree burn ผิวหนังมีถุงน้ำพองใสเกิดขึ้น ถ้าผนังของถุงน้ำแตก จะเห็นผิวหนังสีชมพูหรือแดง และมีน้ำเหลืองซึม ขนจะติดกับผิวหนัง และมีอาการปวดแสบแผล ความยืดหยุ่นของผิวหนังยังปกติอยู่
-แผลไหม้ระดับที่สาม - Third degree burn ผิวหนังจะถูกทำลายตลอดชั้นความหนาของผิวหนัง ซึ่งจะแห้ง แข็ง ไม่มีความยืดหยุ่น เส้นเลือดบริเวณผิวหนังอุดตัน ขนหลุดจากผิวหนัง ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด





ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง