รีเซต

จีนเปิดแคปซูลยานฉางเอ๋อ 6 พร้อมตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์

จีนเปิดแคปซูลยานฉางเอ๋อ 6 พร้อมตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์
TNN ช่อง16
1 กรกฎาคม 2567 ( 19:35 )
26
จีนเปิดแคปซูลยานฉางเอ๋อ 6 พร้อมตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์

หลังจากแคปซูลเก็บตัวอย่างหินด้านไกลของดวงจันทร์ (Far Side) ของยานฉางเอ๋อ 6 เดินทางกลับถึงโลกเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ล่าสุดองค์การอวกาศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CNSA) ได้เปิดแคปซูลตัวอย่างดังกล่าวเพื่อทำการศึกษา โดยก่อนหน้านี้แคปซูลได้ถูกขนส่งจากบริเวณจุดลงจอดที่เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ไปยังกรุงปักกิ่งด้วยเฮลิคอปเตอร์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา 


ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์แห่งชาติจีน หรือ CCTV  ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการเปิดแคปซูลภายในห้องทดลองสถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (CAST) โดยภายในแคปซูลมีตัวอย่างหินดวงจันทร์ด้านไกล (Far Side) น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม ซึ่งจะถูกนักวิทยาศาสตร์จีนนำไปวิเคราะห์ และตรวจสอบโดยละเอียดด้วยขั้นตอนพิเศษที่ได้รับการวางแผนเอาไว้


กระบวนการตรวจสอบทางองค์การอวกาศจีนได้ใช้รูปแบบเดียวกับการเก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์ส่งกลับโลกของยานฉางเอ๋อ 5 ในปี 2020 ที่ผ่านมา โดยจะมีการแจกจ่ายชิ้นส่วนตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ไปยังนักวิทยาศาสตร์และสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนเพื่อทำการศึกษาร่วมกัน หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 ปี จึงจะส่งตัวอย่างหินให้กับทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติร่วมทำการตรวจสอบ


สำหรับดวงจันทร์ด้านไกล(Far Side) และด้านใกล้ นั้นมีความแตกต่างกัน เนื่องจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "การหมุนตัวสัมพันธ์" (Tidal Locking) ซึ่งเป็นผลมาจากแรงโน้มถ่วงระหว่างโลกและดวงจันทร์ที่ทำให้การหมุนรอบตัวเองของดวงจันทร์ตรงกับการโคจรรอบโลก ดวงจันทร์จึงหันหน้าฝั่งดวงจันทร์ด้านใกล้เข้าหาโลกตลอดเวลา มนุษย์บนโลกไม่สามารถมองเห็นดวงจันทร์ด้านไกลได้ นอกจากใช้ดาวเทียมหรือยานสำรวจลงจอดบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์


นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการนำตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ด้านไกล (Far Side) ส่งกลับมาตรวจสอบบนโลก และประเทศจีนกลายเป็นชาติแรกที่ทำได้สำเร็จ หลังจากก่อนหน้านี้มีเพียงแค่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตที่เคยนำตัวอย่างหินดวงจันทร์ด้านใกล้กลับมายังโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าหินดวงจันทร์ด้านไกล (Far Side) ที่ยานฉางเอ๋อ 6 นำกลับมายังโลก อาจนำไปสู่การค้นพบใหม่ ๆ และไขปริศนาบนดวงจันทร์


ที่มาของข้อมูล Livescience.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง