รีเซต

ไวรัสโคโรนา : สำรวจที่มา “ยาแรง” ก่อน ประยุทธ์-วิษณุ แถลงชี้แจง “ข้อกำหนด” ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ไวรัสโคโรนา : สำรวจที่มา “ยาแรง” ก่อน ประยุทธ์-วิษณุ แถลงชี้แจง “ข้อกำหนด” ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
บีบีซี ไทย
25 มีนาคม 2563 ( 05:10 )
85

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เตรียมเปิดแถลงข่าวเรื่องการประกาศใช้ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ในช่วงบ่ายวันนี้ (25 มี.ค.) หลังเกิดสารพัดคำถาม ข้อสงสัย และข้อท้วงติงจากหลายฝ่าย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้แก่สื่อมวลชน พร้อมระบุว่าเขาจะแจกแจงรายละเอียดมาตรการต่าง ๆ ต่อจากนายกฯ ด้วย

"ไม่ต้องสนใจระยะ3 เพราะเป็นสิ่งที่แพทย์กำหนดไว้สำหรับดูอาการและความสัมพันธ์อย่างหนึ่งที่ระบาดจากคนไทยสู่คนไทย ซึ่งเวลานี้ยังไม่ปรากฎแพร่หลายมาก แต่สถานการณ์ของโรคและอะไรหลายอย่างจึงทำให้ต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น ขอให้รอนายกฯ เป็นผู้แถลงในช่วงบ่ายวันนี้" รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายกล่าว

ก่อนประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ "กฎหมายพิเศษ" อย่าง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (26 มี.ค.) บีบีซีไทยสรุปที่มาที่ไป เสียงขานรับและเสียงสะท้อนความกังวลใจจากภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมเปรียบเทียบแนวปฏิบัติที่เคยเกิดขึ้นกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในอดีต

ที่มาของ "ยาแรง"

"วันนี้ผมก็ขออำนาจ ครม. เพื่อประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพราะขณะนี้สถานการณ์มีความจำเป็น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกลางวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 24 มี.ค.

ถือเป็นการเปิดฉากใช้ "ยาแรง" จัดการกับโควิด-19 นับจากพบผู้ติดเชื้อรายแรกในไทยเมื่อ 71 วันก่อนตามการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ในระหว่างที่ฝ่ายบริหารกำลังประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนฟีเรนซ์ ประชาชนทั่วไปก็ได้รับทราบข่าวจากการแถลงของ สธ. ว่ามีชายไทยเสียชีวิต 3 รายรวดภายในวันเดียว รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย และยอดผู้ติดเชื้อสะสม 827 ราย ส่วนยอดล่าสุดในวันนี้ (25 มี.ค.) มีผู้ติดเชื้อสะสมขยับเป็น 934 ราย

นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก สธ. เรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็น "เวลาทอง" (Golden Period) ที่รัฐไทยและคนไทยต้องตัดสินว่าจะเลือกแบบใด หากไม่มีวินัยเคร่งครัดก็จะเดินไปเหมือนยุโรป หากช่วยกันก็จะทำให้ตัวเลขไม่เพิ่มขึ้นมากแบบญี่ปุ่น หรือไต้หวัน

ความสำคัญของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือการ "กระชับอำนาจ" ทั้งหมดที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ผ่านกฎหมาย 38 ฉบับมาไว้ในมือนายกฯ แต่เพียงผู้เดียว และเป็นการยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสมรณะเข้าสู่ภาวะ "วิกฤต" เรียบร้อยแล้ว จึงต้องงัด "กฎหมายพิเศษ" มาจัดการ

ย้อนดู ศอฉ. ในอดีตเพื่อ "ดับไฟใต้-ยุติวิกฤตการเมือง"

สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกยกร่างและประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อเดือน ก.ค. 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังเกิดเหตุร้ายรายวัน-ลุกลามเป็น "วิกฤตไฟใต้" โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ การกำหนดท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และกำหนดห้วงเวลาให้ประกาศภาวะฉุกเฉินได้ไม่เกิน 3 เดือน แต่สามารถต่ออายุได้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน

ผ่านมา 16 ปี "กฎหมายพิเศษ" ฉบับนี้ก็ยังได้รับการต่ออายุอยู่เนือง ๆ ในพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทย จากรัฐบาลที่ผ่านมารวม 8 คณะ

อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังถูกรัฐบาลหลายชุดหยิบมาใช้ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อเป็น "เครื่องมือ" ควบคุม "วิกฤตทางการเมือง"

  

รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

นายทักษิณ ชินวัตร พยายามประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้ามทวีปผ่านการถ่ายทอดของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ในเวลาราว 21.00 น. หลังได้รับ "ข่าวยืนยัน" ว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เคลื่อนรถถังเข้ายึดศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินอย่างทำเนียบรัฐบาลแล้ว แต่ผู้นำจากแดนไกลยังอ่านประกาศไม่จบ สัญญาณโทรทัศน์ก็ถูกตัดขาดลง

การชุมนุม นปช. ปี 2552

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่เมืองพัทยา และ จ.ชลบุรี เมื่อ 11 เม.ย. 2552 หลังคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยแต่งตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้หัวหน้าผู้รับผิดชอบ ก่อนยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินในค่ำวันเดียวกัน หลังรัฐบาลส่งผู้นำทุกชาติกลับประเทศเรียบร้อย

การชุมนุม นปช. ปี 2553

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวม 4 ครั้ง หลังมีการชุมนุมของคนเสื้อแดงหลายจุดทั่วประเทศ โดยครั้งแรกประกาศเมื่อ 7 เม.ย. 2553 ใช้ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ (เฉพาะ อ.เมือง บางพลี พระประแดง สมุทรเจดีย์ บางบ่อ บางเสาธง) และปทุมธานี (เฉพาะ อ.ลาดหลุมแก้ว สามโคก ลำลูกกา คลองหลวง) นครปฐม (เฉพาะ อ.พุทธมณฑล) พระนครศรีอยุธยา (เฉพาะ อ. วังน้อย บางปะอิน บางไทร ลาดบัวหลวง) เมื่อ 7 เม.ย. 2553, ครั้งที่สอง ประกาศภาวะฉุกเฉิกเฉินยก 17 จังหวัด, ครั้งที่สาม เพิ่มอีก 5 จังหวัด และครั้งที่สี่ เพิ่มอีก 2 จังหวัด โดยตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ภายในกรมทหารราบที่ 11 ขึ้นบัญชาเหตุการณ์ มีนายสุเทพเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ.

การชุมนุม กปปส. ปี 2556-2557

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ (เฉพาะ อ.บางพลี) และปทุมธานี (เฉพาะ อ.ลาดหลุมแก้ว) เมื่อ 22 ม.ค. 2557 โดยตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) มาบัญชาสถานการณ์ มีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ศรส.

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม

เปิดโครงสร้างเบื้องต้น ศอฉ. โควิด-19

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีเวลา 48 ชม. ในการจัดวางโครงสร้างการทำงานของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โควิด-19 ที่จะเกิดขึ้นหลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และซักซ้อมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน โดยคาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นประธาน ศอฉ. เอง และให้นายประทีป กีรติเลขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นเลขานุการ ศอฉ.

บ่ายวานนี้ (24 มี.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมฝ่ายกฎหมายและฝ่ายความมั่นคง โดยสื่อมวลชนหลายสำนัก อาทิ ไทยรัฐ, มติชน, ไทยโพสต์ รายงานตรงกันว่า ศอฉ. โควิด-19 จะมีส่วนงาน 8 ศูนย์ย่อยภายใน

  1. ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข >> กระทรวงสาธารณสุข
  2. ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน >> กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  3. ศูนย์ปฏิบัติการด้านสื่อสังคมออนไลน์ >> กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  4. ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อโควิด-19 >> สำนักนายกรัฐมนตรี
  5. ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ >> กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
  6. ศูนย์กระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน >> กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข
  7. ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า >> กระทรวงพาณิชย์
  8. ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนการปฏิบัติของทหาร-ตำรวจ >> 5 เหล่าทัพ

จับตา "ข้อกำหนดชุดแรก" ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด-ตั้งด่านสกัดโควิด-19

ในระหว่างการเปิด "แถลงข่าวภายใต้หน้ากาก" ของ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งแรกยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับ "ข้อกำหนด" ต่าง ๆ ที่จะออกมาว่าส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร หรืออยากให้ประชาชนทำอะไร มีเพียง "คำบอกใบ้" ที่ต้องการการแปลความหมายเพิ่มเติม

ข้อกำหนดในระยะแรก พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่ามุ่ง "ลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ อาจจะขอความร่วมมือหรือบังคับบ้างอะไรบ้าง" ก่อนขยายความว่า "อย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา หากต้องกลับ จะต้องเจอมาตรการต่าง ๆ ในการคัดกรอง ตรวจสอบระหว่างทางมากมาย" โดยจะมีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร จัดตั้งด่านตรวจจุดสกัด รวมถึงการห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่เสี่ยง

ส่วนข้อกำหนดในระยะต่อไปที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ในส่วนที่ว่าจะปิด-เปิดอะไรต่าง ๆ" บีบีซีไทยเข้าใจว่าหมายถึงการปิดกั้นพื้นที่ หรือล็อคดาวน์

ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯ มีอำนาจตามมาตรา 9 ในการออกข้อกําหนดรวม 6 ประเด็น ซึ่งเขาอาจเลือกประกาศใช้เพียงบางประเด็นตามแต่สถานการณ์ ดังนี้

  1. ห้ามมิให้บุคคลออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กําหนด (เคอร์ฟิว) เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น
  2. ห้ามมิให้มีการชุมนุมมั่วสุมกัน หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
  3. ห้ามการเสนอข่าว หรือข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
  4. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
  5. ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
  6. ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย

หากพิจารณาจากคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีความเป็นไปได้ว่า "ข้อกำหนดชุดแรก" จะครอบคลุมถึงข้อ 3-5 ทั้งนี้หากผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก. ฉบับนี้

เช็คเสียงหนุน-เสียงต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ถ้อยแถลงเรื่องการเตรียมประกาศสถานการณ์ "ฉุกเฉิน" ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้ "มะรืนนี้" ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง มีทั้งเสียงขานรับและเสียงสะท้อนความกังวลใจจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อ "ยาแรง" ของรัฐบาล

องค์กร

ปฏิกิริยาต่อรัฐบาล

ภาคธุรกิจ

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

เห็นด้วยเพราะ "รัฐบาลจะได้มีอำนาจเต็มในการบริหารให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด" เนื่องจากที่ผ่านมา ประชาชนบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือ

ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

เห็นด้วยเพราะ "ในภาวะอย่างนี้ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ปัญหา" แต่กังวลใจเรื่องการขนส่งและกระจายไปยังห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อ

ฝ่ายการเมือง

พรรคก้าวไกล

ออกแถลงการณ์ 4 ข้อ เรียกร้องรัฐบาล "ไม่ฉวยโอกาสใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตามอำเภอใจ แต่ต้องใช้อำนาจอย่างได้สัดส่วนต่อการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 เท่านั้น" ต้องไม่ลิดรอนเสรีภาพของสื่อ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

โฆษกพรรคเพื่อไทย

ดักคอให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ ไม่ควรมีเป้าหมายเพื่อควบคุมสื่อ หรือลิดดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ส.ส. รัฐบาล อาทิ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือหยุดยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19

ส.ว. อาทิ นายสมชาย แสวงการ

สนับสนุนเพราะ "ทำให้มีเอกภาพในการปฏิบัติและการสั่งการมากขึ้น"

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง