รีเซต

'วิษณุ' เผยนายกฯเซ็นร่าง พ.ร.บ.ประชามติ แล้ว พร้อมส่งสภาฯ ปัดตอบปม กก.สมานฉันท์ โยนเป็นเรื่องของสภา

'วิษณุ' เผยนายกฯเซ็นร่าง พ.ร.บ.ประชามติ แล้ว พร้อมส่งสภาฯ ปัดตอบปม กก.สมานฉันท์ โยนเป็นเรื่องของสภา
มติชน
4 พฤศจิกายน 2563 ( 16:14 )
95
'วิษณุ' เผยนายกฯเซ็นร่าง พ.ร.บ.ประชามติ แล้ว พร้อมส่งสภาฯ ปัดตอบปม กก.สมานฉันท์ โยนเป็นเรื่องของสภา

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เซ็นแล้ว และส่งไปสภาแล้ววันนี้ แต่สภาจะนำเข้าพิจารณาวันใดนั้นอยู่ที่อำนาจของประธานสภาเพราะต้องประชุมร่วม 2 สภา คำถามจะมีอันเดียวว่า ท่านจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการผ่านวาระ 3 แล้วนี้ หรือไม่เท่านั้น ส่วนจะพ่วงคำถามอะไรเข้าไป ไม่ใช่เรื่องของ กกต. ซึ่งจะเป็นหน่วยงานใดก็แล้วแต่ตั้งคำถาม แล้วค่อยมาเป็นมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166

 

เมื่อถามถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องไปถามทางสภา เพราะนายชวน หลีกภัย ประธานสภา กรุณารับดำเนินการเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลเลย ขอไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ เพราะข้อเสนอที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดจากสภา

 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมติของคณะกรรมการชุดนี้ออกมาจะเป็นผลอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อยู่ที่จะมอบหมายภาระหน้าที่ให้คณะกรรมการนี้ไปทำอะไร อย่างไร ส่วนจะออกมาเป็นผลอย่างไรหรือไม่ ไม่ทราบ และถามย้ำว่า ความเห็นของอดีตนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 เห็นไปในทางเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุม นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ

 

 

เมื่อถามว่า ผู้ชุมนุมควรเข้ามามีส่วนในกรรมการชุดนี้ด้วยหรือไม่ เพราะหากผู้ชุมนุมไม่ได้เข้ามาจะมีผลอะไรหรือ นายวิษณุ กล่าวว่า ไมีความเห็นในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลจะเข้าหรือไม่ก็ยังไม่รู้ เขาจะเชิญหรือไม่ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไป เวลานี้อยู่ที่ประธานรัฐสภาประสานกับทุกฝ่าย ตอนแรกไม่มีใครคิดว่าจะออกมาเป็นชื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ด้วยซ้ำ แต่เพราะเคยมีคณะกรรมการลักษณะนี้ในอดีต ซึ่งคิดว่า ผลจะออกมาในรูปของการแนะนำมากกว่า แล้วคงจะทำให้ได้ข้อสรุปที่มหาชนมีความเห็นคล้อยตาม ถ้าคณะกรรมการชุดนี้สามารถทำให้ประชาชนคล้อยตามได้ก็จะทำให้เกิดพลังในทางกดดันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล ทั้งอะไรก็ตาม อยู่ที่ว่าข้อเสนอแนะเขามีผลไปถึงใคร เขาอาจจะเสนอข้อเสนอหลายข้อ ซึ่งอาจจะเสนอเป็นทางเลือก กับแนะนำว่าควรจะทำอย่างไร โดยผู้เกี่ยวข้องอาจจะรับไปปฏิบัติสองข้อ สามข้อ ก็ยังดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็เป็นทางออกที่ได้ผ่านการกลั่นกรองจากผู้มีประสบการณ์ และมีความเป็นกลาง

 

เมื่อถามว่า คำถามพ่วงประชามติต้องให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นคนตั้งคำถามหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าไม่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้จะกลายเป็นว่ารัฐบาลเป็นผู้ตั้งคำถามพ่วง ซึ่งไม่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าคณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้เสนอก็จะทำให้สิ้นข้อสงสัย เพราะอำนาจในการตั้งคำถามพ่วงประชามติเป็นของครม. ตามมาตรา 166

 

เมื่อถามถึงโอกาสที่จะทำประชามติพ่วงกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นายวิษณุ กล่าวว่า เราเคยพูดกันมาก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบันนี้ยังห่วง เพราะเราเหลือเวลาอีก 50 วันก็จะเลือกตั้ง อบจ. แล้วก็ยังไม่เห็นวี่แวว ถ้าเร่งเข้าก็อาจจะได้ แต่ถ้าช้าอยู่ก็อาจจะไม่ทัน เพราะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องของคำถามเสียก่อน ดังนั้น โอกาสที่จะไม่ทันก็สูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง