รีเซต

“แผ่นดินไหวญี่ปุ่น” สรุปไทม์ไลน์ธรณีพิโรธหมู่เกาะโทคาระ ปชช.วิตกเพราะข่าวลือ

“แผ่นดินไหวญี่ปุ่น” สรุปไทม์ไลน์ธรณีพิโรธหมู่เกาะโทคาระ ปชช.วิตกเพราะข่าวลือ
TNN ช่อง16
4 กรกฎาคม 2568 ( 11:45 )
183

แผ่นดินไหวญี่ปุ่น 2568 ตอกย้ำความกังวล “ร่องลึกนันไก”

ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2568 ประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติครั้งสำคัญอีกครั้ง เมื่อเกิดแผ่นดินไหวหลายร้อยครั้งบริเวณ “หมู่เกาะโทคาระ” จังหวัดคาโกชิมะ ซึ่งนอกจากสร้างความกังวลต่อประชาชนในพื้นที่แล้ว อีกยังทำให้หลายฝ่ายจับตามองความเป็นไปได้ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในร่องลึกนันไก (Nankai Trough) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวแผ่นดินไหวที่อันตรายที่สุดในโลก

สรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหวโทคาระ  กับ ข่าวลือที่แพร่ระบาดในโลกออนไลน์

ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2568 พื้นที่หมู่เกาะโทคาระมีรายงานคลื่นแผ่นดินไหวมากกว่า 400–500 ครั้ง ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน ซึ่งถือว่าเป็น “earthquake swarm” หรือชุดของแรงสั่นสะเทือนที่เกิดติดกันโดยไม่มีแผ่นดินไหวหลักนำมา ท่ามกลางกระแสข่าวลือ "การเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในวันที่ 5 กรกฏาคม 68"

โดยที่มาของกระแสนี้ มาจากมังงะ “The Future I Saw” ของ “เรียว ทัตสึ” โดยเนื้อหาในมังงะ เขียนไว้ว่า แผ่นดินไหวจะเกิดจากรอยร้าวใต้พื้นทะเลระหว่างญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ก่อให้เกิดสึนามิยักษ์ ใหญ่กว่าแผ่นดินไหวปี 2011 ถึง 3 เท่าตัว ซึ่งแม้ตัวเธอจะยืนยันว่าเป็นเพียงแค่การ์ตูนที่วาดขึ้นจากความฝัน แต่กระแสนี้ก็กลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์เร็วกว่าโรคระบาด

วันที่ 26 มิถุนายน :  กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) รายงานแผ่นดินไหวระดับแมกนิจูด 5.0–5.1 หลายครั้ง ลึกประมาณ 10–20 กม. บริเวณใกล้หมู่บ้านโทชิมะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกาะเล็ก ๆ ของโทคาระ

วันที่ 3 กรกฎาคม :  เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 5.5 แมกนิจูด นอกชายฝั่งของหมู่เกาะ ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นประกาศอพยพโดยสมัครใจประชาชนบนเกาะอาคุเซกิที่มีประชากรราว 89 คน เพื่อความปลอดภัย

วันที่ 4 กรกฎาคม : ชาวบ้านที่อพยพชุดแรกได้ลงเรือข้ามฟากของหมู่บ้านแล้ว เพื่อไปยังคาโงชิมะ เรือได้ออกจากท่าเรือนาเสะ บนเกาะอามามิ โอชิมะเมื่อเวลา 2.00 น. วันนี้  ตามเวลาท้องถิ่น โดยเรือจะแวะ 7 เกาะของหมู่บ้านโทชิมะที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ในระหว่างทางไปยังท่าเรือคาโงชิมะ สำหรับเกาะอามามิ โอชิมะ ตั้งอยู่ห่างจากเกาะอาคุเซคิจิมะที่เพิ่งเกิดแผ่นดินไหวราว 120 กิโลเมตร

เรือลำนี้มีกำหนดจะเดินทางถึงเมืองคาโงชิมะหลังเวลา 18.00 น. วันนี้ (4) ตามเวลาท้องถิ่น ชาวบ้านจะหลบภัยแผ่นดินไหวอยู่ที่นี่ประมาณ 1  สัปดาห์ ชาวบ้านจากเกาะอื่น ๆ ก็จะอพยพมาที่เมืองนี้เช่นกัน

เมื่อเดือนธันวาคมปี 2021 โทชิมะเคยอพยพชาวบ้านคล้ายกับครั้งนี้ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวความแรงระดับ 5  เขย่าเกาะอาคุเซคิจิมะ

ความเข้าใจผิด VS วิทยาศาสตร์: ไม่มีใครพยากรณ์วันแผ่นดินไหวได้

แม้จะมีข่าวลือแพร่ในสื่อออนไลน์ว่าแผ่นดินไหวใหญ่อาจเกิดในวันที่ 5 กรกฎาคม แต่ผู้เชี่ยวชาญย้ำชัดว่า “ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดสามารถทำนายวันเกิดแผ่นดินไหวได้แน่นอน”

ร่องลึกนันไก : เงาแห่งภัยแผ่นดินไหว  ชนวนกระตุ้นความวิตกของชาวโลก

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ในโทคาระเป็นที่จับตามองอย่างยิ่ง คือการร่องลึกนันไก ซึ่งอยู่ทางใต้ของญี่ปุ่น แนวรอยเลื่อนนี้เคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ระดับ M8–M9 หลายครั้งในประวัติศาสตร์ โดยครั้งล่าสุดคือแผ่นดินไหวนันไกปี 1946 

ในปี 2568 คณะกรรมการวิจัยแผ่นดินไหวญี่ปุ่นประเมินว่า มีความเป็นไปได้ถึง 80% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในร่องลึกนันไกภายใน 30 ปีข้างหน้า ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง อาจสร้างความเสียหายมหาศาลทั้งต่อชีวิตผู้คนและเศรษฐกิจของประเทศ

มาตรการเตรียมพร้อม: ญี่ปุ่นปรับแผนใหม่ ตั้งเป้าลดการสูญเสียให้ได้ 80%

เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในอนาคต รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ภัยพิบัติชุดใหม่เมื่อ 1 กรกฎาคม 2568 โดยยกเลิกเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะลดการเสียชีวิตลงเพียง 20% และเปลี่ยนเป็น “ต้องลดให้ได้ถึง 80%” ภายใน 10 ปี

แนวทางสำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการ ได้แก่

  • ปรับปรุงและสร้างบ้านเรือนให้ทนแผ่นดินไหวมากขึ้น
  • จัดตั้งศูนย์หลบภัยใหม่ในพื้นที่เสี่ยง
  • วางแผนฝึกอบรมและซ้อมอพยพในทุกพื้นที่ที่อยู่ในแนวรอยเลื่อน

ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวในหมู่เกาะโทคาระ สู่การรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ จากร่องลึกนันไก

เหตุการณ์แผ่นดินไหวในหมู่เกาะโทคาระช่วงกลางปี 2568 เป็นสัญญาณที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องเร่งยกระดับการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่จากร่องลึกนันไก โดยปรับแผนความมั่นคงระดับชาติใหม่ และเน้นการลดความสูญเสียให้ได้สูงสุด ด้วยการบูรณาการเทคโนโลยี สาธารณูปโภค และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง