เปิดวิธีคำนวนสินไหมทดแทน กรณีเสียชีวิต
เปิดตำรากฎหมายสมัยเรียนนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด มี 2 มาตราที่ต้องมาพิจารณาคือ มาตรา 443 และ 444
เนื้อหาโดยย่อคือ
ในกรณีทำให้ถึงตายทันที สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทน ค่าทำศพ และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็น
ถ้ามิได้ตายในทันที สามารถเรียกค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ที่จะทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นได้
ถ้าการตายนั้น ทำให้บุคคลใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไป บุคคลคนนั้นสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนค่าอุปการะได้
ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกาย ผู้เสียหายสามารถเรียกค่าชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย
จากกฎหมายข้างต้นสรุปง่ายๆเลยว่า
กรณีผู้ถูกละเมิดบาดเจ็บแต่ยังไม่ตาย ก็อาจเรียกค่าสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการทำงานได้ สมมติอายุ 30 ปี มีเงินเดือน 1.5 แสนบาท ปีนึงมีรายได้ 1.8 ล้านบาท ทำงานได้อีก 30 ปี มีรายได้รวม 54 ล้านบาท
กรณีเสียชีวิตทันที จะเรียกได้แค่ 1. ค่าทำศพ และค่าใช้จ่ายต่างๆ 2. ค่าอุปการะเลี้ยงดู
ซึ่งในที่นี้คือเสียชีวิตทันที ค่าอุปการะที่จะได้ จะต้องคำนวณ จากที่ได้รับการส่งเสียแต่ล่ะเดือน (ตามข่าวมีการให้สัมภาษณ์ไว้ที่ 1.5 หมื่นต่อเดือน) คูณจำนวนเดือนที่คาดว่าจะมีชีวิตถึง สมมติตอนนี้อายุ 60 ปี มีอายุถึง 75 ปี ค่าอุปการะที่เรียกได้คือ 15,000 x 12 x 15 = 2,700,000 บาท
จากกรณีศึกษาในอดีต ผู้ก่อเหตุมักจะแสดงท่าทีอ่อนน้อม ยอมรับที่จะชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ เพื่อให้ญาติผู้เสียชีวิตยอมความไม่เอาเรื่อง แต่เมื่อตั้งหลักได้ ผู้ก่อเหตุมักจะใช้ช่องทางกฎหมายเข้าสู้ และสุดท้ายเรื่องมักจบด้วยการชดใช้ค่าเสียหายน้อยกว่าที่เคยรับปากเอาไว้ หรือบ่อยครั้งคือชักดาบ ไม่จ่ายค่าเสียหายเลย
ประกิต สิริวัฒนเกตุ
กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์