รีเซต

ระวัง! มดตะนอย ตัวน้อยต่อยหนักโดนแล้วเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

ระวัง! มดตะนอย ตัวน้อยต่อยหนักโดนแล้วเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
TNN ช่อง16
7 พฤษภาคม 2565 ( 12:32 )
260

จากกรณีเด็กหญิงวัย 11 ปีในจังหวัดน่านถูก มดตะนอย ต่อยที่แขนระหว่างที่กำลังช่วยพ่อทำสวน ก่อนจะเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก และเสียชีวิตตามที่มีรายงานข่าวนั้น มดตะนอย นั้นถือเป็นสัตว์มีพิษตัวเล็กๆที่เราไม่ควรมองข้าม ก่อนหน้านี้มีชาวบ้านอำเภอย่านตาขาว ในจังหวัดตรัง ถูกมดตะนอยกัดที่ริมฝีปาก จากนั้นมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เจ็บปวดตรงแผลที่โดนมดตะนอยกัด และมีอาการรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นอาเจียน จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด 

เช่นเดียวกันกับชาวบ้านที่จังหวัดนครปฐมถูกมดต่อยมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล และได้มีการส่งตัวอย่างมดมาที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากการตรวจจำแนกชนิดตัวอย่างมดที่ได้รับดังกล่าว พบว่าเป็นมดตะนอยเช่นเดียวกัน 

นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เคยกล่าวถึงกรณีดังกล่าวโดย ระบุว่าอันตรายของ มดตะนอย เกิดจากการที่ มดตะนอยต่อยด้วยเหล็กใน ซึ่งการต่อยของมดจะแตกต่างจากผึ้ง คือมดเมื่อต่อยแล้วจะสามารถดึงเหล็กในกลับ ทำให้สามารถต่อยได้หลายครั้ง ผู้ถูกต่อยจะถูกต่อยซ้ำๆ ด้วยมดตัวเดิม  เหล็กในที่ยื่นออกมาจากปลายท้องมดจะเชื่อมต่อกับต่อมพิษที่อยู่ภายในท้อง ซึ่งต่อมพิษจะผลิตสารประกอบโปรตีนและสารอัลคาลอยด์ และสารที่ทำให้ผู้ถูกต่อยเกิดอาการแพ้คือสารประกอบพวกโปรตีน 

สารโปรตีนเหล่านี้จะทำให้ผู้ถูกต่อยมีอาการต่างๆ เช่น เจ็บปวดบริเวณแผล แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาเจียน ซึ่งหากบางรายที่แพ้รุนแรงถ้ารักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ และไม่เฉพาะแต่ มดตะนอย เท่านั้นที่มีเหล็กในและมีต่อมพิษ มดชนิดอื่นๆ เช่นมดคันไฟก็มีสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน

ลักษณะของ มดตะนอย เป็นอย่างไร

มดตะนอยมีลักษณะลำตัวยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนหัวและส่วนท้องเป็นสีเข้มเกือบดำ ส่วนอกเป็นสีน้ำตาลเหลืองจนถึงสีส้ม รอยต่อระหว่างอกและท้องมีลักษณะเป็นปุ่มนูน 2 ปุ่มมีสีน้ำตาลเหลืองจนถึงสีส้มเช่นกัน หนวดมี 12 ปล้อง กรามมีขนาดใหญ่ ท้องมีลักษณะเป็นรูปไข่ โดยที่ปลายท้องจะมีเหล็กในยื่นออกมาให้เห็นได้เด่นชัด ชอบทำรังอยู่บริเวณบนต้นไม้ใหญ่และต้นไม้ที่ตายแล้ว โดยจะเห็นเป็นโพรงอยู่ภายในต้นไม้ มดตะนอยจะกินซากแมลงเล็กๆ เป็นอาหารและจะออกหากินอยู่บริเวณต้นไม้และพื้นดินใกล้เคียงที่อาศัย ดังนั้น ประชาชนจึงควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีมดตะนอยทำรังอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามต้นไม้ใหญ่ หรือต้นไม้ที่ตายแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้มดต่อย

วิธีการรักษาเมื่อถูก มดตะนอยต่อย

ถ้าถูกมดต่อยแล้วรู้สึกว่ามีอาการแพ้ หายใจไม่ค่อยออก ควรรีบไปพบแพทย์ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการแพ้ ให้รักษาแผลบริเวณที่ถูกกัดและต่อยให้สะอาดเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซ้ำ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อถูกสัตว์จำพวกผึ้น ต่อ แตน มด ต่อย

1.หากมีเหล็กในฝังอยู่ต้องเอาเหล็กในออกให้หมด

2.ประคบความเย็นเพื่อลดความเจ็บปวด

3.ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ แล้วทาครีมสตีรอยด์

4.ถ้าปวดมาก ให้กินยาพราเซตามอล

5.รายที่ถูกต่อต่อยควรกินยาแก้แพ้ร่วมด้วย

6.ถ้าผื่นมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2 นิ้ว หรือ คลื่นไส้ อาเจียนปวดท้องหรือมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือถูกกัดต่อยเป็นจำนวนมากกว่า 20 จุด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

ข้อมูลจาก :  หมอชาวบ้าน/กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ภาพจาก :   AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง