รีเซต

สปสช. ปรับระบบสายด่วน 1330 ลดผู้ติดเชื้อโควิดตกค้าง แนะทางเลือก เจอ แจก จบ

สปสช. ปรับระบบสายด่วน 1330 ลดผู้ติดเชื้อโควิดตกค้าง แนะทางเลือก เจอ แจก จบ
มติชน
4 มีนาคม 2565 ( 16:02 )
112
สปสช. ปรับระบบสายด่วน 1330 ลดผู้ติดเชื้อโควิดตกค้าง แนะทางเลือก เจอ แจก จบ

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) แถลงว่า ในช่วงสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราต้องการให้ประชาชนที่ติดเชื้อลงทะเบียนเข้ามาในระบบการรักษา ซึ่งสายด่วน 1330 เป็นช่องทางที่ประชาชนติดต่อเข้ามาเยอะพอสมควร เริ่มตั้งแต่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่ละเขตจะมีสายด่วนประจำในแต่ละเขตอยู่แล้ว โดยจะมีเบอร์โทรศัพท์ในเฟซบุ๊กของกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือโทรศัพท์ไปที่สายด่วน 1669 กด 2 ส่วนในต่างจังหวัดเองก็จะมีสายด่วนของแต่ละจังหวัด

 

“ในช่วงที่ผ่านมา สายด่วน สปสช. มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมามีสายด่วนเข้ามามากถึง 70,300 สาย ซึ่งสปสช.เองในช่วงก่อนปีใหม่ พยายามขยายคู่สายเต็มศักยภาพมากขึ้น หลังจากที่ สธ.ได้มีการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ด้วยจำนวนที่มากถึง 70,000 สาย ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งโทรเข้ามาแล้วสายไม่ว่าง จึงได้มีการเพิ่มช่องทางอีก 2 ช่องทาง คือ การโทรเข้ามาเพื่อลงทะเบียนเข้าระบบ HI หรือ 1330 กด 4 มีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและลงทะเบียนเข้าไปในระบบ แต่หากสายไม่ว่าง เรายังมีช่องทางให้ประชาชนลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็ปไซต์ สปสช. หรืออีกช่องทางหนึ่ง คือ แอดไลน์ สปสช. โดยหลังจากวันที่ 1 มีนาคม จะมีการปรับหลายยอย่าง ด้านหนึ่งเราเปิดรับจิตอาสา โดยมีจิตอาสาจากหน่วยงานต่างๆ และประชาชนทั่วไป แม้เราจะเคยมีสายที่โทรเข้ามาและไม่ได้ตอบกลับถึงครึ่งหนึ่ง แต่ในปัจจุบันลดลงไม่ถึง 1 ใน 4 สำหรับสายที่ค้าง โดยไม่ได้ปล่อยไว้เฉยๆ จะยังมีเจ้าหน้าที่ทยอยโทรกลับเช่นกัน” ทพ.อรรถพร กล่าว

 

 

ทั้งนี้ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สธ.เองก็ได้นำเสนอวิธีการรักษาเพิ่มขึ้นอีก 1 วิธี คือ ‘เจอ แจก จบ’ หรือการรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนแต่สามารถติดต่อไปยัง รพ.ตามสิทธิ หรือ รพ.ของภาครัฐได้เลย อย่างไรก็ตาม หากติดเชื้อ หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็ยังสามารถลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ HI ได้ โดยจะมีการจับคู่กับ รพ.เพื่อเข้ามาดูแลเช่นเดิม และค่าใช้จ่าย รัฐบาลยังคงดูแลให้เสมอ ในกรณีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและไม่แน่ใจว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ อาจจะเริ่มจากการตรวจเอทีเคก่อน โดยสามารถไปรับเอทีเคได้ตามร้านขายยา ที่เข้าร่วมโครงการกับสปสช. ปัจจุบันมีกว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศ โดยรับผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” โดยจะได้รับ 2 ชุด หลังจากตรวจแล้วหากผลเป็นบวก ไม่ต้องตกใจ ให้ดูความเสี่ยงของตัวเองก่อนว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ฉีดวัคซีนครบหรือไม่ และหากไม่มีอาการ สามารถไปเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกได้ แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยงก็สามารถลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ HI โดยเชื่อว่าหลังจากปรับระบบคู่สายแล้ว จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาในระบบได้ง่ายขึ้น

 

“อย่างไรก็ตาม การรักษาแบบผู้ป่วยนอกไม่จำเป็นต้องรอสายด่วนเลย ท่านสามารถไปรับบริการได้ทันที แต่ระหว่างการรอรับบริการยังต้องปฏิบัติตามมาตรการ เว้นระยะห่างจากผู้อื่น โดยแพทย์จะตรวจดูอาการและติดต่อกลับไปภายใน 48 ชั่วโมง หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอะไรก็จะกักตัวไปประมาณ 10 วัน” ทพ.อรรถพร กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับการเพิ่มคู่สาย ที่มีหน่วยงานอื่นมาเกี่ยวข้องมีมากขึ้นเท่าไร ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เดิมทีมีการเพิ่มคู่สายโดย สปสช. 3,000 คู่สาย แต่ตอนนี้มีหน่วยงานหลายหน่วยมาช่วย ล่าสุดมีทางศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ได้ให้ทางกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ มาช่วยเพิ่มอีก 200 คู่สาย ซึ่งเป็นคอลเซ็นเตอร์แยกไปตามเหล่าทัพ โดยประชาชนโทรศัพท์แค่หมายเลขเดียวคือ 1330 กด 14 เพื่อเข้าระบบการรักษา หากจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่พอรับจะโอนไปยังคอลเซ็นเตอร์ 200 คู่สาย และยังรวมของจิตอาสาใช้เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวมาลงทะเบียนกับ สปสช.เพื่อเป็นกำลังสำรองในการรับสาย นอกจากนี้ทางสปสช.ยังเปิดรับจิตอาสาเพิ่มเติมอีก โดยสมัครผ่านเว็บไซต์ สปสช.

 

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลต่อระยะเวลาในการรอรับสายหรือการติดต่อกลับหรือไม่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เมื่อก่อนอัตราการรับสายอยู่ที่ประมาณ 7 นาทีต่อ 1 สาย ทั้งนี้เรากำลังจะลดระยะเวลาต่อ 1 สายให้มากที่สุด เพราะใน 1 นาทีมีคนโทรเข้ามา 50 สาย สุดท้ายแล้วเราไม่สามารถลดเวลาลงมาได้ แต่หลังจากวันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นมา หลังจากมีจิตอาสา และมีคนมาช่วย และมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น ก็ทำให้จำนวนสายลดลง จาก 70,000 สาย ลดเหลือ 60,000 สาย และลดลงตามลำดับ หากสถานการณ์ดีขึ้นเช่นนี้ จะมีจำนวนสายที่ไม่ได้รับ หรือติดต่อกลับลดลงเรื่อยๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง