รีเซต

'โฆษกรบ.' เผย 'บิ๊กตู่' ปลื้มผลงานด้านศก. แนวโน้มฟื้น ยัน รบ.เน้นพัฒนาอุตสาหกรรม 6 ด้าน

'โฆษกรบ.' เผย 'บิ๊กตู่' ปลื้มผลงานด้านศก. แนวโน้มฟื้น ยัน รบ.เน้นพัฒนาอุตสาหกรรม 6 ด้าน
มติชน
26 มกราคม 2565 ( 11:14 )
155
'โฆษกรบ.' เผย 'บิ๊กตู่' ปลื้มผลงานด้านศก. แนวโน้มฟื้น ยัน รบ.เน้นพัฒนาอุตสาหกรรม 6 ด้าน

เมื่อวันที่ 26 มกราคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ควมคุมการดำเนินนโยบายตามที่ได้สั่งการ และชื่นชมการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ หลังรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอนาคต ยืนยันรัฐบาลเดินถูกทางเน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม 6 ด้าน

 

นายธนกร กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของภาคเอกชนและภาครัฐ การลงทุนรวม มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ ดุลการค้า และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ สํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ที่เปิดเผยว่า ในปี 2565 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ยังคงขยายตัว 4-5 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม หรือจีดีพีภาคอุตสาหกรรม ที่ขยายตัว 2.5-3.5 เปอร์เซ็นต์ โดยไทยมีศักยภาพหลายด้านที่ได้เปรียบประเทศคู่ค้า ทั้งการมีแรงงานทักษะที่มีฝีมือและคุณภาพ วัตถุดิบทางการเกษตร ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ตลอดจนโครงการลงทุนต่าง ๆ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สอดคล้องกับแนวนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเมื่อรัฐบาลปลดล็อกการเดินทางระหว่างประเทศแบบ test and go จะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้อีกมาก ทั้งนี้ รัฐบาลเน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม 6 ด้าน ได้แก่

1. ส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

2. พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับหมุดหมายการพัฒนาตามตารางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)

3. พัฒนาผู้ประกอบการและภาคการผลิตไปสู่ 4.0 เช่น การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ ส่งเสริมเอสเอ็มอี เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล

4. พัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

5. จัดตั้งและส่งเสริมการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
และ 6.การยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

 

นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลยังได้เร่งพัฒนาทักษะแรงงานทั้ง การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่เรามีให้ดีกว่าเดิม (Upskill) และ การสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานใหม่และนักศึกษาอาชีวะให้เป็นแรงงานคุณภาพรองรับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เร่งออกโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานที่เป็นที่ต้องการที่สอดรับกับนโยบายมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ต่าง ๆ ควบคู่กันไปด้วย

 

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลคำนึงถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งแผนในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูและปรับใช้มาตรการให้เหมาะสม โดยต้องใช้ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อมั่นว่า การปรับแก้มาตรการ และนโยบายของไทย วิเคราะห์ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและตามสถานการณ์ตลาดระหว่างประเทศ จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน” นายธนกร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง