รีเซต

ศบค.ปลดล็อกอีกเลเวล ลดเคอร์ฟิว-เปิด ปท.3 เฟส

ศบค.ปลดล็อกอีกเลเวล ลดเคอร์ฟิว-เปิด ปท.3 เฟส
มติชน
15 ตุลาคม 2564 ( 09:11 )
69

หมายเหตุนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เกี่ยวกับการพิจารณาแผนรองรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม

 

นายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์ไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม กรณีของการเปิดประเทศให้มีการเดินทางโดยทางอากาศเข้ามาในประเทศไทยได้รับความสะดวกสบาย เพิ่มเรื่องเงินไหลเข้าประเทศในช่วงปลายปีนี้ เป็นช่วงไฮซีซั่นของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจะได้เข้ามาได้ แต่ไม่ได้รับทุกประเทศ มีการจัดการที่เอ่ยชื่ออยู่มี 5 ประเทศ คือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สิงคโปร์ จีน เข้าข่ายเป็นประเทศติดเชื้อควบคุมได้ดี

 

วันนี้ในที่ประชุมได้หารือกัน ให้ยกเลิกการกำหนดประเทศดินแดนความเสี่ยงของสถานการณ์โควิด-19 ในมิติ เนื่องจากการจัดกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ การปรับข้อมูลมาใช้เป็นเรื่องเดิม เพราะเกณฑ์ต่างๆ ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

เรื่องที่ 2 มีการหารือกันว่าถ้าจะเปิดประเทศ เมื่อเข้ามาแล้วจะต้องมีพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว จะเป็นพื้นที่สีฟ้า จากเดิมมีภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา และกระบี่ ศึกษาย้อนหลังกลับมามีคนเดินทางมาภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์แล้ว 7+7 คือ อยู่ภูเก็ต 7 วัน แล้วไปเกาะอื่นๆ อีก 7 วัน ที่ประชุมจะขยายพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยว โดยหลักการพื้นที่สีฟ้าคงไม่ได้อยู่แค่ 4 จังหวัดนี้ มีแผนช่วง 1-31 ตุลาคมนี้ มี 4 จังหวัด ช่วง 1-30 พฤศจิกายนนี้ จะขอเพิ่มเป็น 17 จังหวัด ในพื้นที่นำร่องเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ กระบี่ทั้งจังหวัด พังงาทั้งจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์เฉพาะหัวหิน เพชรบุรีที่ชะอำ เลือกเมืองท่องเที่ยว รอเข้าที่ประชุม เดือนธันวาคมจะปรับพื้นที่สีฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 16 จังหวัด รวมเป็น 33 จังหวัด เช่น เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ สุโขทัย เป็นพื้นที่นำร่องเกี่ยวข้องเมืองหลักหรือมีสัดส่วนรายได้น้อยลงมา จะเพิ่มถึงความแตกต่างคือจะเพิ่มใน 10 จังหวัด ในระยะ 1-30 พฤศจิกายน อัพขึ้นมาเป็น 15 จังหวัด

 

แผนรองรับการเปิดประเทศ เข้าราชอาณาจักรแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ แนวคิดของนายกรัฐมนตรี ทีมงานแปลงออกมาเป็นแผนรองรับเปิดประเทศ สิ่งต้องเกิดในแผน กลยุทธ์ที่หนึ่ง การเปิดประเทศอย่างปลอดภัยหรือสมาร์ทเอ็นทรี ความสำคัญคือต้องปรับมาตรการผู้เข้าราชอาณาจักร วางแผนการเปิดประเทศ ลดวันกักตัว ปรับการตรวจหาเชื้อ ลดค่าประกัน ส่วนจะมีผลต่อการรักษาอย่างไรหรือไม่ รายละเอียดจะไปพูดคุยกันต่อ

 

ที่ประชุมพูดคุยอย่างมากเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดเป็นแผนขึ้นให้ได้ ทั้งเฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง ป้องกันควบคุมโรค เตรียมพร้อมด้านสาธารณสุขและพัฒนาระบบฐานข้อมูล บริหารจัดการและบูรณาการ ทั้งหมดเสนอที่ประชุมให้ไปจัดทำแผน ช่วง 2 เดือนที่เหลือ ให้ ศบค.อนุมัติแผน ถ่ายทอดแผนไปยังทุกหน่วยงานจัดทำแผนเพื่อเริ่มดำเนินการเฉพาะบางแผน วันที่ 1-30 พฤศจิกายนนี้ ถือเป็นระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ประเมินและดำเนินการต่อเนื่อง ระยะที่ 3 วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป มีข้อสรุปคือตอนนี้ ให้ที่ประชุม ศปก.ศบค.พิจารณาแนวทางการเข้าราชอาณาจักรแบบไม่กักตัว กักพื้นที่ มีแนวทางตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอ วันนี้ยังไม่ได้บอกประเทศเพิ่ม อันที่สองเห็นชอบยกเลิกการกำหนดประเทศดินแดนอย่างที่กล่าวไปแล้ว และเห็นชอบแผนรองรับเปิดประเทศ และแผนเร่งรัดรองรับการเปิดประเทศ

 

เรื่องที่ 2 การปรับพื้นที่ สถานการณ์และมาตรการการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ ดูจากอัตราการติดเชื้อในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตอนนี้ เอามาเป็นตัวเลข ถ้าผู้ป่วย 100 รายต่อวัน หรือเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ มากกว่า 50 รายต่อวัน ถือว่าเป็นพื้นที่สูงสุดและเข้มงวด รองลงมา 20-50 รายต่อวัน เป็นพื้นที่สีแดงพื้นที่ควบคุมสูงสุด และสีส้ม ใน 1 สัปดาห์น้อยกว่า 20 ราย และที่อยู่รอบๆ ขอบๆ ทั้งหลายด้วย เช่น ติดชายแดนต้องนำมาประกอบกัน

 

สรุปจาก 3 สิงหาคม เราจะประกาศวันที่ 16 ตุลาคม จะปรับพื้นที่ใหม่จากพื้นที่สีแดงเข้มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จาก 29 จังหวัด เหลือ 23 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี จันทบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครศรีธรรมราช นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา ระยอง ราชบุรี สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสระบุรี

 

พื้นที่สีแดงพื้นที่ควบคุมสูงสุด จาก 37 จังหวัด เหลือ 30 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด นครราชสีมา นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี มหาสารคาม ระนอง ลพบุรี ศรีสะเกษ สตูล สระแก้ว สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี อุบลราชธานี และเพชรบูรณ์

 

พื้นที่สีส้มพื้นที่ควบคุม จาก 11 จังหวัด เป็น 24 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กำแพงเพชร นครพนม น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ พะเยา พังงา แพร่ ภูเก็ต มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย สกลนคร สุโขทัย หนองคาย หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอำนาจเจริญ ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสีเหลือง และสีเขียวยังคงไม่มีอยู่เหมือนเดิม

 

 

ด้านมาตรการได้ปรับเงื่อนไขสำหรับใน 5 กิจการ/กิจกรรมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 1.การห้ามออกนอกเคหสถาน จากเดิม 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-03.00 น. อย่างน้อย 15 วัน เพื่อให้สภาพของการประกอบการผู้ทำมาหากินได้กลับมาสู่วิถีชีวิตเดิม

 

2.ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสดหรือตลาดนัด จากเดิมเปิดดำเนินการได้ถึง 21.00 น. จำหน่ายเฉพาะเครื่องอุปโภคบริโภค ให้เปิดดำเนินการได้ถึง 22.00 น. จำหน่ายได้ทุกประเภทสินค้า เปิดบริการ เครื่องเล่น สวนสนุกได้ โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร

 

3.กิจการอื่นๆ ที่เปิดทำการโดยกำหนดเวลา เช่น ธุรกิจโรงภาพยนตร์ หรือฉายภาพยนตร์ ร้านอาหาร โรงละคร โรงมหรสพ เช่น ลิเก งิ้ว ลำตัด หรือการแสดงพื้นบ้านอื่นๆ สนามกีฬาทุกประเภท สวนสาธารณะ ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า จากเดิมเปิดถึง 21.00 น. เป็นเปิดตามเวลาปกติ แต่ไม่เกิน22.00 น. ยังเน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง

 

4.สถานดูแลผู้สูงอายุ จากเดิมให้เฉพาะที่อยู่ประจำ ไม่เปิดดำเนินการแบบรับไป-กลับ เป็นให้เปิดดำเนินการแบบรับไป-กลับได้ โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร บุคลากรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์และสุ่มตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ผู้ใช้บริการต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์

 

5.การขนส่งสาธารณะทุกประเภท จากเดิมให้ความจุ 75% ของยานพาหนะ ปรับเพิ่มความจุตามความสามารถของยานพาหนะและคณะกรรมการผู้กำกับด้วย

 

ส่วนศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ รวมถึงสถานที่ลักษณะเดียวกันในห้างสรรพสินค้าและโรงแรม เปิดได้โดยให้เคร่งครัดมาตรการโควิด ฟรี เซตติ้ง จำกัดจำนวนคนไม่เกิน 500 คน เว้นระยะห่าง 1 เมตร จัดเลี้ยงอาหารแบบแยกชุด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา กำหนดเวลาประชุมไม่เกินช่วงละ 2 ชั่วโมง ให้มีเวลาพักและเปิดระบายอากาศของห้องประชุม เปิดตามเวลาปกติแต่ไม่เกิน 22.00 น. และต้องขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร กรณีเกิน 50 คน

 

ส่วนทุกพื้นที่มีปรับมาตรการ 1.ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดบริการตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม ที่เล่นเป็นรายบุคคลหรือแข่งเป็นคู่เท่านั้น สวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยังไม่เปิดบริการ และยังไม่เปิดบริการสวนน้ำ สวนสนุกทุกพื้นที่ 2.สนามกีฬาทุกประเภท สวนสาธารณะ เปิดได้ตามเวลาปกติ แต่ไม่เกิน22.00 น. ส่วนมาตรการอื่นๆ ยังคงเดิม 3.การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ปรับเพิ่มการรวมกลุ่ม ตามระดับพื้นที่ตั้งแต่พื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดถึงเฝ้าระวัง ดังนี้ จากเดิม 25 เป็น 50 คน จากเดิม 50 เป็น 100 คน จากเดิม 100 คน เป็น 200 คนจากเดิม 200 เป็น 300 คน จากเดิม 300 เป็น 500 คน4.สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังไม่ให้เปิด ขอให้เตรียมการไว้ก่อน พื้นที่ต้องสะอาด โปร่งโล่ง ให้ผู้ประกอบการทำมาตการภายในเตรียมไว้ก่อน เดือนถัดๆ ไปจะเร่งรัดดำเนินการให้เปิด แต่ตอนนี้ยังเสี่ยงสูง จะเร่งรัดกำหนดมาตรการสำหรับเตรียมการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้

 

ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูงสีเหลือง ไม่จำกัดการเดินทางห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 300 คน, ร้านอาหารบริโภคในร้านได้ เปิดได้ตามปกติ, ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการได้ตามปกติ เปิดบริการตู้เกมเครื่องเล่น ร้านเกม ยังไม่เปิดสวนสนุกและสวนน้ำ, ร้านเสริมสวย ร้านนวด สถานเสริมความงาม เปิดบริการได้ตามปกติ, สถานศึกษาทุกระดับ สถาบันกวดวิชา ให้ใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากตามมาตรการที่กำหนด, สถานที่เล่นกีฬาหรือแข่งขันกีฬา เปิดบริการได้ทุกประเภท จัดการแข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชม

 

ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสีเขียว ไม่จำกัดการเดินทาง ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 500 คน, ร้านอาหารบริโภคในร้านได้ตามปกติ, ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าเปิดบริการได้ตามปกติ, ร้านเสริมสวย ร้านนวด สถานเสริมความงาม เปิดบริการได้ตามปกติ, สถานศึกษาทุกระดับ สถาบันกวดวิชา ไห้ใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากตามมาตรการที่กำหนด, สถานที่เล่นกีฬาหรือแข่งขันกีฬา เปิดบริการและจัดการแข่งขันได้ทุกประเภท

 

สรุปเห็นชอบปรับระดับพื้นที่ และได้เห็นชอบเรื่องของการปรับมาตรการป้องกัน มอบหมายให้ ศบค. กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด สิ่งที่ ผอ.ศบค.เป็นห่วงคือเมื่อปรับมาตรการแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ ภาครัฐ

 

เรื่องที่ 5 ยาโมลนูพิราเวียร์ ยาตัวใหม่เข้ามา ที่ประชุมทางกระทรวงสาธารณสุขได้ขอให้นำมาพิจารณาเห็นชอบทำแผนการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ 50,000 คอร์ส สำหรับการรักษา จะใช้ดีกับคนมีอาการไม่มาก เมื่อใช้แล้วอาการจะหาย ที่ประชุมมอบให้กรมการแพทย์นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินซื้อยานี้ต่อไป

 

เรื่องสุดท้ายเรื่องแผนจัดหาวัคซีน ที่ประชุมได้รับทราบแผนของการจัดหาวัคซีน ตอนนี้ได้ขอแผนมาถึงสิ้นปีนี้ 127 ล้านโดส ยังมีวัคซีนเป็นทางเลือก เป็นซิโนฟาร์มกับโมเดอร์นาอีก 62.5 ล้านโดส ที่ประชุมรับทราบแผนการจัดหาและคงเดิมไว้

 

ในเรื่องของการจัดการ เป้าหมายการฉีดในเดือนตุลาคมครอบคลุมชาวไทยและต่างชาติอย่างน้อยร้อยละ 50 อยู่ในระดับของจังหวัด และอย่างน้อยร้อยละ 70 ใน 1 พื้นที่ที่เรียกว่าโควิด ฟรี แอเรีย ตรงนี้สำคัญ อย่าง จ.เลยจะเปิดที่เชียงคาน มีประชากรได้รับวัคซีนจำนวนสูงถึงจะเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา สำคัญที่สุดกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ เรียกว่า 608 ต้องฉีดให้ได้ร้อยละ 80 ให้ได้

 

ทั้งนี้ มีขอเพิ่มเป้าหมายวัคซีนเข้าไปในจังหวัดนำร่องการท่องเที่ยวอีก 15 จังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ ที่ประชุมวันนี้เห็นชอบแล้ว จากเดิมมี ภูเก็ต สุราษฎร์ฯ พังงา กระบี่ จะนำร่องวันที่ 1-31 ตุลาคมนี้ จะเพิ่มเป็น กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ กระบี่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ระนอง เชียงใหม่ เลย บุรีรัมย์ หนองคาย อุดรธานี ระยอง และตราด จะฉีดให้ได้ในวันที่ 1-30 พฤศจิกายนนี้ ในเดือนธันวาคม จะมีเชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี อยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบการฉีดวัคซีนในเด็ก นักเรียน จะต้องเพิ่มการฉีด 12-17 ปีทั่วประเทศ และนายกรัฐมนตรียังได้รับรายงานรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ที่ได้ลงไปพื้นที่ภาคใต้ รายงานขึ้นมาว่าเรื่องของวัคซีน การควบคุมโรค ภาคใต้เป็นยุทธศาสตร์ควบคุมโรคที่สำคัญ ก็พยายามดูแลอย่างเต็มที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง