รีเซต

ไล่ไทม์ไลน์สายสีส้ม ก่อน "ล้มประมูล" ปชช.ร้องเพลงรอไปก่อน!!

ไล่ไทม์ไลน์สายสีส้ม ก่อน "ล้มประมูล" ปชช.ร้องเพลงรอไปก่อน!!
มติชน
4 กุมภาพันธ์ 2564 ( 14:06 )
198
ไล่ไทม์ไลน์สายสีส้ม ก่อน "ล้มประมูล" ปชช.ร้องเพลงรอไปก่อน!!

อีลุงตุงนังมานานหลายเดือน สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ รฟม.ได้เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) ระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวมประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์​ 2564 เกมพลิกหลัง คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากที่คณะกรรมการฯ เคยให้แนวทางไว้ ว่าหากในระยะเวลา 1 เดือนที่เลื่อนเวลาการเปิดซองแล้วไม่มีข้อสรุป หรือมีความล่าช้าออกไป ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ ปัจจุบันล่วงเลยมากกว่า 1-2 เดือนแล้วแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงได้มีมติดังกล่าวและมองว่าเป็นวิธีที่จะทำให้เกิดผลได้อย่างชัดเจน และไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานที่สุดแล้ว

 

“มติชนออนไลน์” เรียบเรียงไทม์ไลน์โครงการนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกประกาศให้บริษัทเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายนี้ สามารถซื้อเอกสารเพื่อร่วมประมูลตั้งแต่วันที่ 10-24 กรกฎาคม​ 2563 โดยแบ่งระยะการลงทุน ดังนี้

 

ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการจัดหาระบบรถไฟฟ้า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1.การออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้า และทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการ ส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย -สุวินทวงศ์) เป็นระยะเวลา 3 ปี 6 เดือน

 

ส่วนที่ 2 การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้งทดสอบระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการส่วนตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) เป็นระยะเวลา 6 ปี

 

ระยะที่ 2 การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าโครงการส่วนตะวันออก

 

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 บริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับไปใช้หลักเกณฑ์เงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR)​ เดิม ไม่ใช่หลักเกณฑ์ใหม่ที่มาแก้ไขหลังปิดขายซองประกวดราคาไปแล้ว

 

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 บริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ไปยื่นหนังสือต่อ องค์การต่อต้านการคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ถึงกรณีดังกล่าว

 

ต่อมา เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไปแจ้งความกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามพระราชบัญญัติ​ (พ.ร.บ.)​ ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (มาตรา 36) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 เปลี่ยนแปลง TOR

 

หลังพบข้อพิรุธ อาทิ การพิจารณาจะแยกซองเทคนิคหากผ่านตามเกณฑ์ จึงจะเปิดซองการเงินตามลำดับ แต่การประกวดครั้งนี้กลับนำซองเทคนิคมาคิดคะแนนรวมกับซองการเงิน โดยกำหนดสัดส่วนการให้คะแนน 30/70 หากรายใดได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะได้รับการคัดเลือก และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ ซึ่งอาจมีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จึงต้องขอให้ DSI ช่วยตรวจสอบ

 

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มีรายงานว่า ศาลปกครองกลาง นัดไต่สวนในคดีที่ BTSC ยื่นฟ้อง คกก.คัดเลือกตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (มาตรา 36) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และพวกรวม 2 คน โดยขอให้เพิกถอนมติ คกก.คัดเลือกฯ กรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข TOR ที่ให้นำข้อเสนอทางด้านเทคนิคมาให้คะแนนควบคู่กับข้อเสนอด้านราคา หลังจากที่มีการปิดการขายซองประมูลไปแล้ว

 

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน​ 2563 สมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชน (ประเทศไทย) และเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) ได้ไปร้องเรียนกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบผู้ว่าการ รฟม. รวมถึง คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยให้เหตุผลในลักษณะ​เดียวกันกับ BTSC

 

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เผยถึงความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม งานโยธาช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – บางขุนนท์ และงานเดินรถทั้งเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุว่า ขณะนี้ รฟม. ยังอยู่ระหว่างรอรับฟังคำตัดสินของศาลปกครอง หลังจากที่เอกชนไปใช้สิทธิยื่นร้องเรียนตามกระบวนการศาล และก่อนหน้านี้ศาลได้นัดไต่สวนไปแล้ว

 

และคาดว่าจะมีการพิจารณาตัดสินในเร็ววัน โดย รฟม.ได้เปิดรับซองข้อเสนอมาตั้งแต่ปลายปีก่อน จึงถือว่าขั้นตอนมีความล่าช้าไปบ้าง แต่ทั้งนี้ ยังประเมินว่าหากศาลมีคำสั่งตัดสิน จะสามารถเร่งรัดขั้นตอนพิจารณาข้อเสนอให้การดำเนินงานคงอยู่ตามแผน เริ่มเปิดให้บริการในปี 2567

 

เป็นคำสัมภาษณ์ล่าสุดของผู้ว่าการ รฟม. ก่อนคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม

 

คงต้องติดตามต่อไปว่า รฟม. จะใช้หลักเกณฑ์​ใดในการประมูล และจะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ต่อไป!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง