รีเซต

DREIT โชว์กำไรงวด 9 เดือน โต 27% ปัจจัยหลัก มัลดีฟส์ ฟื้น ยอดจองห้องพักสูง 70-80%

DREIT โชว์กำไรงวด 9 เดือน โต 27% ปัจจัยหลัก มัลดีฟส์ ฟื้น ยอดจองห้องพักสูง 70-80%
มติชน
23 พฤศจิกายน 2564 ( 16:21 )
23

23 พฤศจิกายน 2564 ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (“DREIT” หรือ “กองทรัสต์”) ประกาศผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2564 มีรายได้รวมกว่า 331.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 321.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 252.38 ล้านบาท

 

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารทรัพย์สินของกองทรัสต์ (Hotel Operator) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มดุสิตธานีได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นแผนการตลาด รวมถึงการปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายและการควบคุมต้นทุน และที่สำคัญที่สุดคือการกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยด้านสุขภาพที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่แขกผู้เข้าพัก และทำให้โรงแรมมีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการแก่ลูกค้า เช่น ในประเทศสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ภายหลังจากเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โรงแรมดุสิตธานี มัลดีฟส์ มีอัตราการเข้าพักที่ระดับ 70-80% สะท้อนให้เห็นถึงการกลับมาฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างชัดเจนหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มคงที่มากขึ้น

 

ขณะที่โรงแรมในประเทศไทย มีแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตซึ่งมีโครงการนำร่องภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2564 โดยมีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ประมาณ 40%

 

นายสานต่อ มุทธสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดุสิตธานี พร็อพเพอร์ตี้ส์ รีท จำกัด ผู้จัดการกองทรัสต์ (REIT Manager) ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DREIT) กล่าวว่า การบริหารจัดการกองทรัสต์ฯ ในช่วงที่ผ่านมา ผู้จัดการกองทรัสต์เน้นบริหารจัดการแบบเชิงรุก (Active)  โดยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังทรัพย์สินในต่างประเทศ ทำให้ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่โรงแรมในต่างประเทศมีผลการดำเนินงานฟื้นตัวเร็วขึ้น ทั้งนี้ ในอนาคตกองทรัสต์ฯ จะยังคงมีนโยบายที่จะลงทุนเพิ่มเติมโดยจะเน้นลงทุนในทรัพย์สินที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจไม่มาก รวมถึงมีนโยบายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพย์สินที่มีอยู่ (Asset Optimization) การบริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Asset Rationalization) และ/หรือ การรับรู้รายได้จากการบริหารจัดการเงินลงทุน (Gain from Sales of investment) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ ซึ่งจากแนวโน้มในปัจจุบันคาดว่ากองทรัสต์ฯ จะยังคงสามารถรักษาระดับการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนสำหรับผลการดำเนินงานปี 2564 ทั้งในรูปเงินส่วนแบ่งกำไรและ/หรือเงินลดทุน ให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ได้ไม่น้อยกว่าปีก่อนหน้า

 

ทั้งนี้ ฐานะทางการเงินของกองทรัสต์ฯ ยังคงมีความเข้มแข็ง แม้จะต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีเงินกู้ยืมในระดับที่ต่ำ และมีความสามารถในการชำระหนี้ในระดับที่ดี  และปัจจุบันกองทรัสต์ฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อสินทรัพย์รวมอยู่เพียง 22% โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อกำไรก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ย และภาษีเงินได้ (Debt to EBTIDA Ratio) อยู่ที่ 4.42 เท่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง