รีเซต

ยูเซ็ปโควิด พลัส รักษาผู้ป่วยฟรี! ทุก รพ. กทม.เพิ่มจุดการให้บริการเจอ แจก จบ

ยูเซ็ปโควิด พลัส รักษาผู้ป่วยฟรี! ทุก รพ. กทม.เพิ่มจุดการให้บริการเจอ แจก จบ
มติชน
20 มีนาคม 2565 ( 19:28 )
71

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งว่า กรุงเทพมหานคร พร้อมสนับสนุนแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข รักษาฟรี “UCEP โควิด พลัส” ได้ทุกโรงพยาบาล รวมถึงรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิที่มี ซึ่งจำแนกเกณฑ์อาการโควิดแบ่งเป็นผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง สีแดง ให้ชัดเจน โดยมีหลักเกณฑ์การจำแนกอาการโควิด-19 ดังนี้

 

1. UCEP โควิด พลัส (UCEP COVID-19 Plus) ย่อมาจาก Universal Coverage for Emergency Patients Plus เป็นเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ กรณีติดเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิดในกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสีแดงและสีเหลือง รวมถึงสีเขียวที่อาการเปลี่ยนแปลงเป็นสีเหลือง

 

2.แนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยยังได้รับการรักษาฟรีทุกราย โดยแบ่งตามกลุ่มระดับอาการโควิด ได้แก่ ผู้ป่วยสีเขียว เข้ารับการรักษาได้ฟรี ในโรงพยาบาลตามสิทธิ ได้แก่ บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม โดยกักตัวที่บ้าน (HI) กักตัวในชุมชน (CI) Hospitel หรือเข้าโครงการ “เจอ แจก จบ” ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน สามารถติดต่อ สปสช. 1330 กด 14, ประกันสังคม 1506, กรม สบส. 1426 ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง เข้ารับรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ และรักษาฟรีกับ UCEP Plus ได้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ติดต่อ ศูนย์เอราวัณ 1669, สปสช. 1330 กด 14, กรม สบส. 1426, UCEP Plus 0 2872 1669 สำหรับจำนวนวันรักษาโควิด-19 ในโรงพยาบาล เดิมกำหนดไว้ 10 วัน จะมีการหารือปรับลดเป็นลักษณะ 7 + 3 คือ รักษาในโรงพยาบาล 7 วัน และกลับไปแยกกักตัวที่บ้านต่ออีก 3 วัน แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาบนหลักของความปลอดภัยโดยแพทย์ ส่วนยารักษาโควิด-19 “โมลนูพิราเวียร์” ที่ สธ. จัดสรรมาจะใช้ทั้งในกลุ่ม 608 และคนทั่วไป

 

ทั้งนี้ UCEP Plus ผู้ติดเชื้ออาการสีเหลืองและสีแดง สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ทุกแห่งจนหายป่วย ไม่จำกัดแค่ 72 ชั่วโมงเหมือน UCEP ปกติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการรุนแรงขึ้นจำเป็นต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นในเครือข่ายจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากผู้ป่วยหรือญาติประสงค์จะไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเครือข่าย จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ส่วนผู้ป่วยอาการสีเขียวจะให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นโดยใช้สิทธิ UCEP Plus ได้เช่นกัน

UCEP Plus ต้องมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นบวก ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1. ภาวะหัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า ซึมลง (เมื่อเทียบกับระดับความรู้สึกเดิม) หรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยก หรือ  2. มีอาการไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส มากกว่า 24 ชั่วโมง หรือหายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ หรือออกซิเจนในเลือดเมื่อแรกรับน้อยกว่า 94% หรือมีระดับออกซิเจนลดต่ำลงกว่าภาวะปกติ 3% เมื่อออกแรง หรือโรคประจำตัวเปลี่ยนแปลงรุนแรง หรือจำเป็นต้องรับการติดตามใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือในเด็กมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือกินอาหารน้อยลง หรือผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงตามดุลยพินิจของแพทย์

3. มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย คือเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์ ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร หรืออื่น ๆ ตามดุลยพินิจของผู้คัดแยกโดยการใช้สิทธิ สามารถโทรแจ้งศูนย์เอราวัณ 1669 ซึ่งจะประเมินอาการและรักษาเบื้องต้น และกรอกรายละเอียดอาการผ่านโปรแกรม PA ของศูนย์เอราวัณ หากเข้าเกณฑ์ UCEP Plus จะสามารถใช้สิทธิได้ทันที ทั้งนี้ หากต้องการคำปรึกษากรณีมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาในการใช้สิทธิ ติดต่อสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม. โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

สำหรับการใช้สิทธิ UCEP Plus ผู้ติดเชื้อสิทธิบัตรทองกลุ่มอาการสีเหลืองหรือสีแดง ยังเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลใดก็ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าห้องพิเศษหรืออาหารพิเศษนอกเหนือสิทธิประโยชน์


ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ไปรับบริการสถานพยาบาลปฐมภูมิในระบบบัตรทองได้ทุกที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือแดง สามารถส่งต่อไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาจนหายได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเช่นกัน

 

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ยังมีบริการคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ให้การดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง /โรคร่วมที่สำคัญ แบบผู้ป่วยนอกร่วมกับแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self isolation) ตามนโยบาย “เจอ แจก จบ” ในศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 69 แห่ง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรณีผู้ป่วยได้ยืนยันผลเป็นบวกด้วย ATK แล้ว และผู้ป่วยได้รับการประเมินแล้วพบว่าไม่มีอาการหรือความเสี่ยงจากปัจจัยต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ โดยให้การรักษาเป็นผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อขอเข้ารับการรักษาในระบบแล้ว แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษา 3 สูตร ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาฟ้าทะลายโจร ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก ตามอาการของผู้ติดเชื้อได้ และมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์เพื่อสอบถามและติดตามอาการผู้ป่วยภายใน 48 ชั่วโมง

 

ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเชื่อมโยงเข้าสู่โรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเชื่อมโยงเข้าสู่โรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้หากมีอาการรุนแรง ศูนย์เอราวัณจะประสานและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาใน รพ.สนาม รพ.หลักตามระดับความรุนแรงต่อไป

 

พร้อมกันนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนเครือข่ายร่วมให้บริการ เพิ่มจุดการให้บริการ “เจอ แจก จบ” ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ในพื้นที่เขต 15 เขตที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมาก โดยคาดว่าจะสามารถรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มารับบริการได้มากขึ้น และเปิดให้บริการได้ภายในสัปดาห์หน้า จุดให้บริการ “เจอ แจก จบ” ประกอบด้วยจุดลงทะเบียน จุดประเมินอาการและความเสี่ยง จุดพบแพทย์ และจุดรับยา ซึ่งสามารถให้บริการกับผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา และอาจขยายจุดให้บริการไปยังพื้นที่อื่น ๆ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง