นายกฯ ย้ำไทยพร้อมอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้องแหล่งมรดกโลกทั้งในระดับชาติ-ท้องถิ่น
วันนี้ (27 กรกกฎาคม 2567) เวลา 11.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงนิวเดลี ซึ่งช้ากว่าไทย 1.30 ชั่วโมง) ณ Bharat Mandapam International Exhibition and Convention Centre กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ผ่านระบบวิดีทัศน์ ภายหลังคณะกรรมการมรดกโลกฯ มีมติให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษาที่พิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี” ด้วยตระหนักถึงเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value: OUV) ซึ่งทำให้ในปัจจุบันไทยมีรายชื่อแหล่งมรดกโลกรวมจำนวน 8 แห่งประกอบด้วย มรดกโลกทางวัฒนธรรมจำนวน 5 แห่ง และมรดกโลกทางธรรมชาติจำนวน 3 แห่ง ทำให้จังหวัดอุดรธานีจะเป็นจังหวัดเดียวในไทยที่เป็นที่ตั้งแหล่งมรดกโลกจำนวน 2 แห่ง
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า แหล่งมรดกโลกภูพระบาทฯ ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา เป็นตัวแทนวัฒนธรรมสีมาที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยทวารวดีที่มีอายุราวศตวรรษที่ 8 และนับเป็นแหล่งที่ตั้งแหล่งใบเสมาที่ใหญ่ที่สุดของโลก
ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนภูพระบาทฯ เป็นมรดกโลกในวันนี้ มีความสำคัญอย่างมากต่อไทย และนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นต่อไปในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องแหล่งมรดกโลกในทุกระดับตลอดจนดำเนินการยกระดับการมีส่วนร่วมในการวิจัยทางวิชาการเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติอีกทางหนึ่ง
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีหวังว่าจะได้ต้อนรับทุกคนในการเดินทางมาเยือนไทย เพื่อเยี่ยมชมภูพระบาทฯ ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับล่าสุดของไทย
อนึ่ง การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21- 31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งที่ประชุมมีการพิจารณาการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทย 2 วาระ ได้แก่
1) การพิจารณาให้ความเห็นชอบการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก
2) การพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก และเสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็นแหล่ง “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี” โดยมติของคณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบให้ขึ้นทะเบียนภูพระบาทฯ เป็นมรดกโลกด้วยเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value) ในกลุ่มของภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural Landscape)