ธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ลงทุนสูง กูรูมองกระทบแง่จิตวิทยา
นักวิเคราะห์จับตาแนวทางการดำเนิน Virtual Bank ว่าจะแตกต่างจากการให้บริการ Digital Banking เบื้องต้นมองว่าจะทำให้ต้นทุนแบงก์พาณิชย์สูงขึ้น หากลงไปทำธุรกิจนี้เพราะต้องใช้งบลงทุนสูงทั้งส่วนของระบบ และจัดบริษัทขึ้นมา อาจส่งผลด้านจิตวิทยาการลงทุนต่อนักลงทุนในระยะสั้น-กลาง ล่าสุด ธปท. เปิดรับฟังความคิดเห็นเกณฑ์จัดตั้ง Virtual Bank คาดประกาศรายชื่อผู้ได้ไลเซนส์ไตรมาส 2/2567 ชี้จำกัดไลเซนส์เพียง 3 ราย ทุนจดทะเบียน 5 พันล้านบาท
นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ยังคงต้องรอความชัดเจนของเกณฑ์การจัดตั้งและการอนุญาตไลเซนส์ หรือ วิชวลแบงก์ (Virtual Bank) รวมถึงขอบเขตการดำเนินธุรกิจของ Virtual Bank ว่าจะแตกต่างจาก Digital Banking ที่ธนาคารพาณิชย์ให้บริการอยู่ในปัจจุบันอย่างไร
เบื้องต้นคงมุมมอง “เป็นกลาง” ต่อกรณีการตั้ง Virtual Bank ของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากหากจะตั้ง Virtual Bank ต้องมีการลงทุนตั้งบริษัท รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลด้านจิตวิทยาการลงทุนต่อนักลงทุนในระยะสั้น-กลาง
“ณ ตอนนี้ยังคงมองเป็นกลางเพราะกว่าจะเห็นความชัดเจนของ Virtual Bank คือปี 2567 ซึ่งผู้สนใจคงติดตามความชัดเจนของกรอบการกำกับดูแลของธปท.เพื่อประกอบการพิจารณา แต่จะมีธนาคารใดสนใจหาพันธมิตรเข้ามาศึกษาเพื่อดำเนินการ เพราะ ณ ปัจจุบันทุกธนาคารก็พัฒนาแอพพลิเคชั่น รวมถึงให้บริการผ่าน Digital Banking แล้วหลากหลายบริการ ก็ต้องรอติดตามว่าเมื่อเป็น Virtual Bank แล้วจะแตกต่างจาก Digital Banking อย่างไร”
เปิดรับฟังเกณฑ์ตั้งวิชวลแบงก์
ทางด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ล่าสุด ได้เปิดรับฟังความเห็นร่างการจัดตั้งและการอนุญาตไลเซนส์ Virtual Bank ตั้งแต่วันนี้- 12 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและออกหลักเกณฑ์ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาสที่ 1/2566
นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เป็นเรื่องใหม่ของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ซึ่งหลายประเทศได้ดำเนินการจัดตั้งไปแล้ว และมีอีกหลายประเทศที่อยู่ระหว่างการจัดตั้ง เช่นเดียวกับประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการเปิดรับฟัง ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการทั้งสถาบันการเงิน และไม่ใช่สถาบันการเงินสนใจเข้ามาสอบถามเกณฑ์การจัดตั้ง Virtual Bank แล้วกว่า 10 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวจะเป็นต่างชาติจำนวน 3 ราย
ซึ่งหากจะยื่นของไลเซนส์ Virtual Bank จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายของ ธปท. โดยจะต้องร่วมทุนกับบริษัทไทย ซึ่งต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% แต่หากต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจะต้องเข้ามาขออนุญาตเป็นรายกรณี ซึ่งสามารถผ่อนปรนได้ไม่เกิน 49%
ใช้ทุนจดทะเบียน5พันล.
ทั้งนี้ ธปท.จะเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตมายัง ธปท.ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank มีผลบังคับใช้ เบื้องต้น ธปท.จะอนุมัติให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้เพียง 3 ราย ทุนจดทะเบียนราว 5 พันล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกภายในไตรมาส 2/2567 โดยผู้ผ่านการคัดเลือกต้องเปิดดำเนินการ Virtual Bank ภายใน 1 ปี
"ในเบื้องต้นในช่วง Phasing 3-5 ปี เป็นช่วงที่เราจะติดตามใกล้ชิด แต่ไม่ใช่ Sandbox เพราะเป็นการเปิดให้บริการจริง ซึ่งหากผู้สนใจมีความพร้อมก่อน 3-5 ปี ก็สามารถหลุดจากการติดตามเข้มงวดได้ ส่วนคนที่มีไลเซนส์แบงก์ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ห้ามใช้แบรนด์และโลโก้เดียวกัน และจะต้องทำบัญชีและเงินทุนแยกจากกันชัดเจน โดยต้องไม่พึงพาเงินทุนจากบริษัทแม่เยอะเกินไป แต่ Virtual Bank สามารถจับมือกับพันธมิตร เช่น ไปรษณีย์ไทย ร้านสะดวกซื้อ และธนาคารใช้เครื่อง ATM และ CDM ได้"
KTB- ADVANCศึกษาโมเดล
โดยก่อนหน้านี้นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ธนาคารได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) (ADVANC) เพื่อศึกษาโมเดลธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ (Virtual Bank)