รีเซต

เตือนพายุฤดูร้อน เช็กเลยพื้นที่ไหนเสี่ยงที่สุด

เตือนพายุฤดูร้อน เช็กเลยพื้นที่ไหนเสี่ยงที่สุด
TNN ช่อง16
24 เมษายน 2568 ( 17:03 )
9

สำหรับพายุฤดูร้อนนั้น เกิดจากการปะทะกันของอากาศสองกระแสระหว่างอากาศร้อนในบ้านเราและอากาศเย็นจากจีน ทำให้เกิดเป็นลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง บางครั้งอาจมีฟ้าแลบ ฟ้าผ่า รวมถึงลูกเห็บตกตามมาได้ด้วยนะคะ แต่ฝนที่ตกนั้นมักจะตกไม่นาน เพียงแค่ประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็จะหยุดไป และกินพื้นที่แคบ ๆ ประมาณ 10-20 ตารางกิโลเมตร เมื่อฝนหยุดตกแล้ว อากาศจะเย็นลง และท้องฟ้าจะเปิดอีกครั้ง  

สำหรับพื้นที่เสี่ยงในการเกิดพายุฤดูร้อน เกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่ แต่ส่วนมากจะเกิดบริเวณภาคเหนือและอีสาน เนื่องจากภาคเหนือและอีสานอยู่ใกล้ประเทศจีนมากกว่าภาคอื่นๆ ทำให้มักเป็นพื้นที่ที่เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นและมวลอากาศร้อนในบ้านเรา จึงเป็นสองภาคที่เสี่ยงต่อการเกิดพายุฤดูร้อนมากที่สุด หรือบางครั้งอาจได้รับอิทธิพลจากคลื่นกระแสลมตะวันตกจากเมียนมาร์เข้ามาเสริม ก็จะยิ่งทำให้พายุฤดูร้อนรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ภาคกลางและภาคตะวันออก มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนได้เช่นกัน แต่น้อยกว่าภาคเหนือ และอีสาน ส่วนภาคใต้ก็สามารถเกิดพายุฤดูร้อนได้เช่นกัน แต่ไม่บ่อยนักค่ะ

พายุฝนฟ้าคะนองอาจมีผลกระทบที่รุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีลักษณะอันตรายที่สำคัญ ได้แก่ ลมกระโชกแรงที่ทำความเสียหายต่อบ้านเรือนและต้นไม้, ฝนที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ต่ำ, ลูกเห็บที่ทำลายสิ่งก่อสร้างและพืชผล, และฟ้าผ่าที่อาจทำลายชีวิตมนุษย์และสัตว์ รวมถึงสิ่งก่อสร้างอื่นๆ

การหลบเลี่ยงอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองควรปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย โดยในระหว่างเกิดพายุหากอยู่ในอาคารที่แข็งแรง ควรหลบอยู่ภายในอาคารจนกว่าพายุจะสงบลง หากอยู่ในรถยนต์ควรจอดรถในที่ปลอดภัยห่างจากน้ำท่วม

สำหรับผู้ที่อยู่ในป่าหรือที่โล่ง ควรคุกเข่าลงและโน้มตัวไปข้างหน้าไม่ควรนอนราบกับพื้น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้าผ่า นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้วัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ลวด โลหะ หรือแม้แต่ต้นไม้สูง และไม่ควรใช้โทรศัพท์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าในระหว่างพายุ หากต้องออกจากบ้านควรงดใส่เครื่องประดับโลหะเพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า

ช่วงฤดูร้อนนี้ ยังมีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนได้บ่อยครั้งในหลายพื้นที่ ดังนั้นพื้นที่เสี่ยงต้องระวัง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง รวมถึงใต้เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณาและต้นไม้ใหญ่ เพื่อความปลอดภัยนะคะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง