ฮือค้านญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีสู่ทะเล
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม สำนักข่าวเกียวโดและสื่อท้องถิ่นอีกหลายสำนักรายงานตรงกันว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจแล้วว่าจะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี จากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกูชิมะ ลงสู่ทะเล เพื่อเริ่มต้นกระบวนการ เลิกใช้งานเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าที่เกิดความเสียหายหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิถล่มเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ท่ามกลางเสียงคัดค้าน
บริษัทการไฟฟ้าโตเกียว (เทปโก) ผู้เป็นเจ้าของและผู้บริหารจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกูชิมะ ได้เก็บรวบรวมน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเอาไว้ต่อเนื่องตั้งแต่ไม่นานหลังเกิดอุบัติเหตุเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นปริมาณสูงถึง 1.23 ล้านตัน ทั้งที่เป็นน้ำซึ่งใช้ฉีดเพื่อให้เตาปฏิกรณ์เย็นลงและน้ำจากภายนอก เนื่องจากฐานตอนล่างของเตาปฏิกรณ์ที่ได้รับความเสียหายที่รอยแตก ปริร้าว เป็นเหตุให้มีน้ำใต้ดินไหลซึมเข้าไปกลายเป็นน้ำอันตรายที่เพิ่มปริมาณขึ้นตลอดเวลา และกลายเป็นปมสำคัญต่อการเริ่มต้นกระบวนการเพื่อปิดตายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้
ตามรายงานข่าวของสื่อในญี่ปุ่นบรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวมาตลอด ส่วนชาวประมงและเกษตรกรในพื้นที่ก็ไม่เห็นด้วยเพราะกลัวว่าจะส่งผลให้ผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศ ไม่ยอมซื้ออาหารทะเลและผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ ขณะที่เกาหลีใต้ซึ่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากฟุกูชิมะมาจนถึงทุกวันนี้ ก็แสดงความวิตกถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกรณีนี้ออกมาซ้ำหลายครั้งแล้ว
ทั้งนี้ญี่ปุ่นถกเถียงเรื่องวิธีการกำจัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีดังกล่าวมาหลายปีแล้ว แต่ชะลอการตัดสินใจมาจนกระทั่งกรณีนี้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น เนื่องจากสถานที่สำหรับกักเก็บน้ำดังกล่าวลดลงจนแทบไม่เหลือที่เก็บอีกแล้ว
เมื่อต้นปีนี้ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญซึ่งทำหน้าที่ให้คำแนะนำต่อรัฐบาลญี่ปุ่น ลงความเห็นว่า วิธีการที่เป็นไปได้ที่สุดในการกำจัดน้ำปนเปื้อนดังกล่าวก็คือการนำน้ำมาผ่านกระบวนการบำบัดด้วยระบบกรอง ซึ่งสามารถกรองกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่ได้ แต่จะหลงเหลือ ตริเตียม ซึ่งเทคโนโลยีการกรองเข้มข้นในเวลานี้ยังไม่สามารถคัดกรองออกไปได้ แต่ตริเตียมเป็นกัมมันตภาพรังสีที่จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์เมื่อมีความเข้มข้นสูงเท่านั้นโดยคณะกรรมการฯอ้างว่า หากบำบัดแล้วนำน้ำไปผ่านกระบวนการเจือจางความเข้นข้นด้วยน้ำทะเลก็สามารถปล่อยออกสู่ทะเลหรือมหาสมุทรต่อไปได้โดยปลอดภัย ซึ่งเป็นกระบวนการบำบัดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใช้กันอยู่ทั่วไปในเวลานี้
หนังสือพิมพ์ยูมิอูริ ระบุว่า น้ำที่ปนเปื้อน 1.23 ล้านตันจะถูกทะยอยนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดและเจือจางในบริเวณโรงไฟฟ้าฟุกูชิมะ เพื่อเจือจางให้มีความเข้มข้นลดลงจากเดิม 40 เท่า โดยกระบวนการบำบัดน้ำปนเปื้อนทั้งหมดนี้อาจต้องใช้เวลานานถึง 30 ปี
นายฮิโรชิ กาจิยามา รัฐมนตรีอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นกล่าวถึงกรณีนี้ว่า ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ แต่รัฐบาลจำเป็นต้องปิดตายโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เพื่อฟื้นฟู พื้นที่ฟุกูชิมะ ทั้งหมดให้ปลอดจากวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตัดสินใจโดยเร็ว