รีเซต

จีนทำแผนที่ธรณีวิทยาดวงจันทร์ อัปเดตใหม่และละเอียดที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้าง

จีนทำแผนที่ธรณีวิทยาดวงจันทร์ อัปเดตใหม่และละเอียดที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้าง
TNN ช่อง16
3 กันยายน 2567 ( 10:49 )
23
จีนทำแผนที่ธรณีวิทยาดวงจันทร์ อัปเดตใหม่และละเอียดที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้าง

นักวิทยาศาสตร์จากประเทศจีน สร้างแผนที่ธรณีวิทยาของดวงจันทร์ฉบับใหม่ นำเสนอแผนที่แบบละเอียดและข้อมูลเชิงธรณีวิทยาที่มากขึ้น เพื่อช่วยให้มนุษย์เข้าใจดวงจันทร์มากขึ้น โดยเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2024 ที่ผ่านมา และมีให้บริการทั้งภาษาจีน และภาษาอังกฤษ




รายละเอียดของแผนที่ธรณีวิทยาดวงจันทร์

แผนที่นี้มีมาตราส่วน 1 : 2.5 ล้าน หมายถึงระยะ 1 เซนติเมตรบนแผนที่ จะเทียบเท่ากับระยะทางจริง ๆ บนดวงจันทร์ 2.5 ล้านเซนติเมตร ประกอบด้วยแผนที่ธรณีวิทยาของดวงจันทร์ (Geologic Map) แผนที่วิทยาหิน (Lithologic Map คือ ลักษณะของหิน เช่น สีหิน ลักษณะพื้นผิวของหิน) แผนที่ธรณีแปรสัณฐานของดวงจันทร์ (Tectonic Map คือ แผนที่แสดงโครงสร้างที่เกิดจากกิจกรรมทางธรณีต่าง ๆ เช่น รอยเลื่อน การเอียงตัว) แผนที่รูป 4 เหลี่ยมของธรณีวิทยาของดวงจันทร์ (Map Quadrangles of the Geologic Atlas) หรือชุดแผนที่ที่แบ่งพื้นผิวดวงจันทร์ออกเป็นส่วนเล็ก ๆ และแสดงข้อมูลอย่างละเอียด เป็น 4 เหลี่ยมจัตุรัสจำนวน 30 รูป 


นอกจากนี้ ตัวแผนที่ ยังมีการระบุและทำเครื่องหมายหลุมอุกกาบาต (Impact Crater) จำนวน 12,341 แห่ง แอ่งที่เกิดจากอุกกาบาตกระแทกครั้งใหญ่ (Impact Basin) อีก 81 แอ่ง ชนิดหินทั้งหมด 17 ชนิด และโครงสร้างทางธรณีวิทยา 14 ประเภท นอกจากนี้ยังให้รายละเอียดด้วยว่าจุดไหนที่มนุษย์เคยลงจอดบนดวงจันทร์ รวมถึงยังมีจุดพิเศษ อย่างจุดที่มีความสูงเป็นพิเศษ หรือต่ำเป็นพิเศษ เพื่อที่จะทำให้เข้าใจภูมิประเทศของดวงจันทร์และวางแผนสำหรับภารกิจในอนาคตได้


ทีมนักวิทยาศาสตร์ ยังได้พัฒนาธรณีกาลของดวงจันทร์ใหม่ หรือก็คือช่วงเวลาทางธรณีของดวงจันทร์ใหม่ แบ่งออกเป็น “3 บรมยุค และ 6 ยุค (Three Eons and Six Periods)” ซึ่งธรณีกาลก็อธิบายถึงขนาดของช่วงเวลาทางธรณีวิทยา ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันโลกของเราอยู่ในบรมยุค ฟาเนโรโซอิก (Phanerozoic Eon) มหายุค ซีโนโซอิก (Cenozoic Era) ยุค ควอเทอร์นารี (Quaternary Periods) สมัยโฮโลซีน (Holocene Epoch)


วิวัฒนาการของแผนที่ธรณีวิทยาดวงจันทร์

ทั้งนี้ มนุษย์เรามีความพยายามที่จะพัฒนาแผนที่ธรณีวิทยาดวงจันทร์มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นช่วงปีที่โครงการอะพอลโล ลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก และแผนที่ธรณีวิทยาที่ทำมาตั้งแต่ยุค 1960 ก็ใช้เพื่องานวิจัยสืบต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน


หลิว เจียนจง (Liu Jianzhing) นักวิจัยจากสถาบันธรณีเคมีแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (IGCAS) และบรรณาธิการบริหารของแผนที่ธรณีวิทยาของจันทร์ครั้งนี้กล่าวว่า หากข้อมูลที่ไม่ได้มีการอัปเดต อาจจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านการวิจัยและการสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตได้อีก 


ดังนั้นนับตั้งแต่ปี 2012 จึงได้มีค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลขึ้นมาใหม่ นำโดยสถาบัน IGCAS ร่วมกับมหาวิทยาลัยจี้หลิน มหาวิทยาลัยซานตง สถาบันธรณีวิทยาจีน สถาบันวิทยาศาสตร์ธรณีวิทยาจีน มหาวิทยาลัยธรณีวิทยาจีน (ปักกิ่ง) สถาบันวิทยาศาสตร์ภูมิศาสตร์และการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน และองค์กรอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลที่นำมาจัดทำเป็นแผนที่ธรณีวิทยาดวงจันทร์นี้ ก็ได้มาจากภารกิจสำรวจอวกาศฉางเอ๋อของจีน ข้อมูลทางธรณีวิทยาที่มีอยู่แล้ว รวมไปถึงข้อมูลจากงานวิจัยต่าง ๆ 


แผนที่ธรณีวิทยาของดวงจันทร์ชุดนี้ จะช่วยสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับดวงจันทร์ การสำรวจทรัพยากรดวงจันทร์ การเลือกสถานที่ลงจอด และการวางแผนเส้นทางสำหรับโครงการสำรวจดวงจันทร์ต่าง ๆ ในอนาคต เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของมนุษยชาติเลยทีเดียว


ที่มาข้อมูล ScitechDaily

ที่มารูปภาพ EurekaAlert

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง