รีเซต

นายกฯ นัดตรวจการบ้านแก้น้ำท่วม 15 ต.ค.นี้ ติดตามการฟื้นฟู - เยียวยาผู้ประสบภัย

นายกฯ นัดตรวจการบ้านแก้น้ำท่วม 15 ต.ค.นี้ ติดตามการฟื้นฟู - เยียวยาผู้ประสบภัย
TNN ช่อง16
12 ตุลาคม 2567 ( 09:00 )
22

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช.ส่วนหน้า  กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบของประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สิงห์บุรี และบางพื้นที่ของ จ.อ่างทอง จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น 


ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการปรับลดการระบายน้ำแล้ว แต่ในช่วงวันที่ 13 - 24 ต.ค.นี้ พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะจังหวัดท้ายเขื่อน ตั้งแต่จังหวัดชัยนาท ลงมา อาทิ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังระดับน้ำที่อาจเข้าท่วมชุมชนนอกแนว คันกั้นน้ำ และบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกัน ซึ่งที่ประชุม ศปช.ได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, กรมชลประทาน, กรมอุทกศาสตร์ และ กทม. เฝ้าระวังและเตือนภัยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อไป  


พร้อมเปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 15 ต.ค.นี้ เวลา 15.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ คอส. เพื่อติดตามและรับฟังความคืบหน้าการปฏิบัติงานของ ศปช.และ ศปช.ส่วนหน้า ในการแก้ปัญหาสถานการณ์อุทกภัย การฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และอุปสรรคในการทำงาน


ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ อ.แม่สาย ในระยะยาวว่า ในส่วนของแม่น้ำสายอาจจะต้องมีการขุดลอกใหม่  ซึ่งที่ประชุมสภากลาโหมได้มีการนำภาพถ่ายดาวเทียมของบริเวณดังกล่าวมาพิจารณา และเห็นว่าทางน้ำเหลือเพียงแค่ 20 เมตรเท่านั้น ซึ่งการประชุม ศปช.ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จะพิจารณาว่าจะทำอย่างไร โดยจะมีการหารือกับเมียนมา ซึ่งกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และกองบัญชาการกองทัพไทย ได้ประสานกับทางการเมียนมา เพื่อจะพูดคุยกันแล้ว ว่าอาจจะต้องมีการผลักดันพื้นที่รุกล้ำออกไปทั้งหมดทั้งสองฝ่าย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถพูดคุยกันได้  


อย่างไรก็ตาม หากแก้ไขปัญหาไม่ได้อาจจะถึงขั้นต้องเปลี่ยนแปลงหรือย้าย เพราะคาดการณ์ว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นทุกปี ในระยะเวลาไม่ถึง 100 ปี บ้านเมืองที่อยู่ในบริเวณนั้น อาจกลายเป็นเมืองใต้ดินไป จากการถูกสิ่งต่างๆ ทับถม แต่กรณีการย้ายเมืองขอให้เป็นกรณีสุดท้าย หากไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีอื่นได้แล้ว เนื่องจากจะต้องดูทั้งเรื่องทำเลที่ตั้ง งบประมาณ และเรื่องอื่นๆ ด้วย


ภาพจาก ทำเนียบรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง