อินเดียพบ "ไวรัสนิปาห์” ป่วนกลางศึกโควิด-19
อินเดีย ประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 เป็นอันดับ 2 ของโลก ยอดผู้ป่วยสะสมกว่า 33 ล้านคน เสียชีวิตสะสมอีก 4.4 แสนคน และยอดติดเชื้อรายใหม่ กว่าวันละ 30,000-40,000 ราย
รัฐที่มีคนติดเชื้อสูงสุด 3 อันดับ คือ รัฐมหาราษฏระ ติดเชื้อสะสม 6 ล้านกว่าคน, รัฐเกรละ ติดเชื้อสะสมกว่า 4 ล้านคน และรัฐกรณาฏกะ ติดเชื้อสะสมเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ก็วิกฤตพออยู่แล้ว โดยเฉพาะรัฐเกรละ ที่ผู้ป่วย 6 ใน 10 คน ที่พบในอินเดียก็มาจากรัฐนี้
แต่ในระหว่างที่ทางการรัฐเกรละกำลังสู้ศึกโควิด กลับไปพบการกลับมาของไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน มีชื่อว่า “ไวรัสนิปาห์”
การกลับมาอีกครั้งของ “ไวรัสนิปาห์”
จุดเริ่มต้นพบเด็กชายชาวอินเดียวัย 12 ปี ที่อาศัยในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐเกรละ ติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์ (5 กันยายน) ที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ในรัศมี 3 กิโลเมตร รอบหมู่บ้านที่เด็กชายอาศัยอยู่ กลายเป็นเขตควบคุม
เบื้องต้น พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 2 คนที่แสดงอาการนิปาห์และมีผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้เสียชีวิตกว่า 188 คน ที่ถูกแยกกักตัวเป็นการด่วน ขณะที่ ทีมสาธารณสุขของรัฐกำลังเฝ้าติดตามกลุ่มเสี่ยงสูง 20 คนที่สัมผัสใกล้ชิดเด็กชายด้วย
มีรายงานว่า ทีมงานจากศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติของอินเดีย ได้เก็บตัวอย่าง “เงาะ” จากบ้านของเด็กชายรายนี้ เนื่องจากครอบครัวของเขาสงสัยว่าเขาติดเชื้อหลังจากกินผลไม้ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม โรคนี้กลับมาเยือนรัฐนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว และกำลังท้าทายการจัดการควบคุมโรคของรัฐบาลอินเดีย
รู้จัก “ไวรัสนิปาห์”
- โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ เป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน
- อัตราเสียชีวิตราว 40-75%
- อาการของโรค
- ระยะฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์
- มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดกล้ามเนื้อ 3-14 วัน
- มีอาการซึม สับสน ชัก โคม่าและเสียชีวิต
- ผู้ป่วยบางคนติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ
ปี 1998-1999 ระบาดในประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ เสียชีวิต 276 คน
ปี 2000 และปี 2007 ระบาดในอินเดีย พบผู้เสียชีวิต 70 คน
น่ากังวลกว่า โควิด-19 หรือไม่
แพทย์ระบุว่า เชื้อไวรัสนิปาห์ ไม่ได้แพร่ทางอากาศ ซึ่งต่างจากโควิด-19 อย่างชัดเจน
เชื้อไวรัสนิปาห์นั้น สามารถแพร่เชื้อจากสัตว์ อาทิ ค้างคาว หรือ สัตว์อื่น ๆ โดยมาจากอาหารที่สัตว์เหล่านี้กิน หรือจากการสัมผัสใกล้ชิดกับของเหลวในร่างกายของผู้ติดเชื้อ
แม้ว่าจะแพร่เชื้อในมนุษย์ได้ไม่สูงนัก แต่ทางการก็ยังกังวล เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตของไวรัสนิปาห์ อยู่ระหว่าง 40-75% รวมถึงเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และการรักษาเป็นเพียงการดูแลแบบประคับประคองตามอาการ ทั้งอาการทางระบบประสาท และอาการไข้
ซ้ำเติมวิกฤตรัฐเกรละ
รัฐมนตรีสาธารณสุขแห่งรัฐเกรละ ระบุว่า ในสัปดาห์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีภารกิจในการยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสและช่วยชีวิตประชาชน
ดร.อมาร์ เฟตเติล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไข้หวัดใหญ่ ประจำรัฐเกรละ กล่าวว่า ไวรัสนิปาห์ “ยังไม่ใช่โรคที่ต้องตื่นตระหนก” เนื่องจากทางการรัฐเกรละได้ก่อตั้ง แผนจัดการควบคุมโรคระบาดแบบจำลอง หลังจากเริ่มระบาดครั้งแรกในรัฐเกรละ เมื่อปี 2018
ประกอบกับขณะนี้ เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่นี้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงมากกว่า 25,000 คนต่อวัน ทำให้ประชากรในรัฐ "ตื่นตัวสูง" และมีมาตรการป้องกันเข้มข้นอยู่แล้ว เช่น การใช้หน้ากาก และชุดป้องกัน
นอกเหนือจากโรคนิปาห์ที่พบคนเสียชีวิต และต้องกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงกลุ่มใหญ่ไปแล้ว เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐเกรละพบเจอกรณีผู้ป่วยไข้ซิกา มากถึง 63 คน
ไข้ซิกานี้ มียุงที่เป็นพาหะนำโรค ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก, โรคชิคุนกุนยา และไข้เหลือง อีกทั้ง โรคไข้ซิกายังเป็นอันตรายกับหญิงตั้งครรภ์ด้วย