รีเซต

โควิด เดลต้าลาม-ติดเชื้อพุ่งสถิติ เลื่อนเปิดเกาะบาหลี สธ.อินโดฯถึงขีดสุด ผวาวัคซีนซิโนแวกเอาไม่อยู่

โควิด เดลต้าลาม-ติดเชื้อพุ่งสถิติ เลื่อนเปิดเกาะบาหลี สธ.อินโดฯถึงขีดสุด ผวาวัคซีนซิโนแวกเอาไม่อยู่
ข่าวสด
22 มิถุนายน 2564 ( 15:40 )
78
โควิด เดลต้าลาม-ติดเชื้อพุ่งสถิติ เลื่อนเปิดเกาะบาหลี สธ.อินโดฯถึงขีดสุด ผวาวัคซีนซิโนแวกเอาไม่อยู่

 

โควิด - วันที่ 22 มิ.ย. เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์รายงานว่า ทางการอินโดนีเซียยกระดับมาตรการสกัดกั้นการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 อีกครั้ง หลังชนิดเดลต้า (พบครั้งแรกที่อินเดีย) ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขของประเทศถึงขีดสุดของการรองรับ ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อนโยบายการเปิดเกาะรีเยา และบาหลี ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

 

 

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นหลังอินโดนีเซียพบผู้ติดเชื้อรายวันทำสถิติสูงสุด เพิ่มขึ้นเป็น 14,536 คน ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็นกว่า 2 ล้านคน ในจำนวนนี้ เสียชีวิตแล้วถึง 55,000 ราย สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

ขณะที่การระดมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อนั้นพบผลบวกในกลุ่มที่ได้รับการตรวจถึงร้อยละ 41.1 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ร้อยละ 5 จึงจะหมายความว่าการระบาดอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

 

 

มาตรการใหม่ของทางอินโดฯ จะส่งผลให้ธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ประเภทจำเป็นต้องปิดให้บริการหลังเวลา 20.00 น. ในพื้นที่สีแดง สถานที่ทำงานต้องให้พนักงานทำงานจากบ้านเป็นปริมาณ 3 ใน 4 รวมทั้งห้ามชุมนุมทางสังคมและพิธีทางศาสนา ตลอดจนหลายพื้นที่ที่เป็นย่านธุรกิจของกรุงจาการ์ตาจะใช้มาตรการเคอร์ฟิวเวลา 21.00 ถึง 04.00 น.

 

 

นายบุดี กุนาดี ซาดิคิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เตียงผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอยู่ทั้งหมด 17,752 เตียง ในกรุงจาการ์ตา ถูกใช้ไปแล้วถึงร้อยละ 90

 

 

สถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อการเปิดเกาะบาหลี ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้ต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงไตรมาสสามของปี รวมถึงพื้นที่เกาะรีเยาภายใต้โครงการท่องเที่ยวร่วมกันสิงคโปร์ที่เลื่อนมาตั้งแต่เดือนเม.ย. มาเป็นก.ค. และอาจต้องเลื่อนอีก

 

 

รายงานระบุว่า การระบาดที่ยังไม่สามารถควบคุมได้นั้นยังก่อให้เกิดคำถามจากผู้เชี่ยวชาญที่มองว่าสายพันธุ์เดลต้าอาจเป็นต้นเหตุของการระบาดหนัก ขณะที่ชาวอินโดนีเซียเริ่มแสดงความไม่มั่นใจต่อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากบริษัทซิโนแวก ประเทศจีน

 

 

ทางการอินโดนีเซียได้รับวัคซีนแล้ว 104 ล้านโดส ในจำนวนนี้ เป็นวัคซีนจากซิโนแวก 94.5 ล้านโดส ที่เหลือเป็นซิโนฟาร์ม และแอสตร้าเซนเนก้า โดยมีเป้าหมายจะฉีดให้ได้วันละ 1 ล้านคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (ร้อยละ 70) ให้กับประชากร 181 ล้านคน จากทั้งหมด 270 ล้านคน

 

 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน เพิ่งมีผู้ได้รับวัคซีนไปเพียง 12.3 ล้านคนเท่านั้น และความไม่มั่นใจจากผู้เชี่ยวชาญและประชาชนต่อประสิทธิภาพวัคซีนเกิดขึ้น โดยเฉพาะชนิดเดลต้า

 

หลังมีแพทย์กว่า 350 คน ที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวแล้วครบ 2 เข็ม ติดเชื้อและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล โดยหลายคนมีไข้สูง และออกซิเจนในเลือดตก

 

 

หนึ่งในนั้นเป็นนายวิกู อดิสาสมิโต หัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจรับมือโควิด-19 ของรัฐบาล ที่เปิดเผยว่าผลการตรวจติดเชื้อก่อโรคโควิดของตัวเองเป็นบวก แม้ได้รับวัคซีนซิโนแวกครบโดส

 

 

นายดิกกี บูดิแมน นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า ตอนนีมีเพียงวัคซีนชนิด mRNA และจากแอสตร้าเซนเนก้าเท่านั้นที่มีประสิทธิภาพได้ผลต่อสายพันธุ์เดลต้า

 

 

นายบูดิแมน ระบุว่า กรณีของอินโดนีเซียนั้นคือคนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวกมีโอกาสที่จะติดเชื้อสูงกว่าคนที่ได้วัคซีนตัวอื่น และว่าถือเป็นบทเรียนที่สำคัญมากต่อชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าต้องปรับเปลี่ยนมาตรการรับมืออย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอ การเพิ่มความสามารถในการตรวจ และการติดตามการระบาดที่รวดเร็วกว่านี้

 

 

"ผมแนะนำให้ฉีดบูสเข็มที่สามให้กับคนที่ได้วัคซีนซิโนแวก หรือแอสตร้าเซนเนก้า บูสต์ด้วยวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอจากผู้พัฒนาที่มีผลการศึกษารับรองแล้วว่ามีประสิทธิภาพจริง โดยเฉพาะต่อชนิดเดลต้าครับ" บูดิแมน ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง