รีเซต

"เขื่อนแตก" ทางตอนใต้ยูเครน ภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบก่อน-หลังแบบชัดๆ

"เขื่อนแตก" ทางตอนใต้ยูเครน ภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบก่อน-หลังแบบชัดๆ
TNN ช่อง16
7 มิถุนายน 2566 ( 12:09 )
114

เปิดภาพถ่ายดาวเทียมสภาพก่อน-หลังเกิดความเสียหายเขื่อนกั้นแม่น้ำดนิโปรแตก ในเมืองโนวา คาโคฟกา ทางใต้ของยูเครน คาดต้องอพยพชาวบ้านราว 40,000 คนทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ


เปิดภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นสภาพก่อนและหลังการเกิดความเสียหายจากเหตุเขื่อนกั้นแม่น้ำดนิโปรแตก ในเมืองโนวา คาโคฟกา ในจังหวัดเคอร์ซอน ทางใต้ของยูเครน เมืองนี้อยู่ในการครอบครองของรัสเซีย



คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ หรือ UNSC 15 ชาติประชุมเมื่อวานนี้ (6 มิ.ย.) ตามคำขอของทั้งรัสเซียและยูเครน วันเดียวกับที่เพิ่งเกิดเหตุเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำดนิโปรแตกในยูเครน 

เมื่อวานนี้ (6มิ.ย.) เกิดเหตุเขื่อนกั้นแม่น้ำดนิโปรแตก ในเมืองโนวา คาโคฟกา ในจังหวัดเคอร์ซอน ทางใต้ของยูเครน เมืองนี้อยู่ในการครอบครองของรัสเซีย และแม่น้ำสายนี้กั้นแยกกองกำลัง 2 ประเทศ โดยรัสเซียครอบครองฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ส่วนยูเครนอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำ 



มวลน้ำมหาศาลที่อยู่ในเขื่อน 18 ลูกบาศก์กิโลเมตร ทะลักออกจากเขื่อนท่วมเมืองเคอร์ซอนของยูเครน เบื้องต้นบ้านเรือนประชาชนเสียหายกว่า 600 หลัง ผู้ปกครองเมืองโนวา คาโคฟกา ซึ่งเป็นคนของรัสเซีย ประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว

ด้าน วาซิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น กล่าวต่อที่ประชุม UNSC กล่าวหายูเครนระดมยิงจนเขื่อนแตก เป็นความพยายามสร้างโอกาส เพื่อให้มีเวลารวบรวมหน่วยทหารต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่เพื่อตีโต้รัสเซียต่อไป พร้อมเตือนว่า การจงใจก่อวินาศกรรมของยูเครน ทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเช่นนี้ เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง และอาจนับเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม หรือการก่อการร้าย

ด้าน เซอร์กี ไคลิตสย่า เอกอัครราชทูตยูเครนประจำยูเอ็น กล่าวต่อที่ประชุม UNSC กล่าวหาเป็นฝีมือรัสเซียวางระเบิดเขื่อนดังกล่าวจากภายใน และเป็นไปไม่ได้ที่จะทิ้งระเบิดเขื่อนนี้จากภายนอก

ด้าน โรเบิร์ต วู้ด รองผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น กล่าวก่อนการประชุม UNSC ว่า สหรัฐฯ ไม่แน่ใจว่า ควรโทษใครทำเขื่อนแตก แต่หวังว่าจะมีข้อมูลมากกว่านี้ภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่มันดูไม่สมเหตุสมผล หากจะคิดว่ายูเครนเป็นฝ่ายทำเอง เพราะส่งผลกระทบต่อชาวยูเครนเองต้องเดือดร้อนจากน้ำท่วม ชาวบ้านต้องอพยพหลายหมื่นคน



ด้าน อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น กล่าวก่อนการประชุม UNSC ว่า ยูเอ็นไม่มีข้อมูลที่เป็นอิสระว่าเขื่อนแตกได้อย่างไร แต่ชัดเจนว่า เรื่องนี้เป็นผลกระทบล่าสุดจากวิกฤติยูเครนที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 16 เดือนแล้ว

ด้าน มาร์ติน กริฟฟิธส์ หัวหน้าฝ่ายบรรเทาทุกข์ของยูเอ็น รายงานต่อ UNSC ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ยังต้องใช้เวลาประเมินอีกหลายวัน แต่เบื้องต้นชัดเจนว่า เหตุเขื่อนแตกครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างหนักและไปไกล ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของยูเอ็น และต่อแนวหน้าในการสู้รบของทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ จากการสูญเสียบ้านเรือนไปกับน้ำท่วม สูญเสียน้ำสะอาดและอาหาร ตลอดจนการดำรงชีพ



สถานการณ์ล่าสุด ทางฝ่ายยูเครนคาดว่า จะต้องอพยพชาวบ้านราว 40,000 คนทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ โดยฝั่งที่ยูเครนครอบครองต้องอพยพราว 17,000 และฝั่งที่รัสเซียครองอพยพราว 25,000 คน ฝ่ายยูเครนเริ่มอพยพแล้ว 1,000 คน ด้านประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ระบุว่า 80 หมู่บ้านและเมืองถูกน้ำท่วมแล้ว 

ด้านเจ้าหน้าที่ยูเครนระบุว่า กว่าน้ำจะไหลออกหมดเขื่อนและท่วมพื้นที่สูงสุดจะเห็นชัดเจนในวันนี้ (7 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น จากนั้นน้ำจะนิ่งพักหนึ่ง และหลังจากนั้นคาดว่าน้ำจะลดลงภายในเวลา 4-5 วันข้างหน้า



ภาพจาก reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง