รีเซต

นักเศรษฐศาสตร์ แนะรัฐ ใช้นโยบายการคลังอุ้มธุรกิจขนาดเล็ก ช่วงวิกฤตไวรัสระบาด

นักเศรษฐศาสตร์ แนะรัฐ ใช้นโยบายการคลังอุ้มธุรกิจขนาดเล็ก ช่วงวิกฤตไวรัสระบาด
มติชน
1 มีนาคม 2563 ( 19:44 )
39
นักเศรษฐศาสตร์ แนะรัฐ ใช้นโยบายการคลังอุ้มธุรกิจขนาดเล็ก ช่วงวิกฤตไวรัสระบาด

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์และการเงิน อดีตผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ธนาคารเครดิตสวิส โพสต์ข้อความแสดงความเห็น เรื่อง ”ติดหล่ม”หรือ”ตกราง”- สามความเสี่ยงเศรษฐกิจจากโควิด-19 ระบุว่า

นานๆทีขอกลับไปสวมหมวกนักวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค นโยบายและการลงทุน เพราะประเด็นเรื่อง ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 นั้นท้าทายและสำคัญจริงๆ (ยาวหน่อยขอโทษด้วยครับ)

วันนี้คงไม่มีใครเถียงแล้วว่าพิษของโรคระบาดโควิด-19รุนแรงสาหัสกับเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างเห็นได้ชัด จากภาคการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก ภาคอุตสาหกรรมที่ห่วงโซ่การผลิตถูกป่วน และอุตสาหกรรมอื่นๆที่สะดุดเพราะคนไม่สามารถมาทำงานในออฟฟิศได้

แต่ความเห็นของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะมองคล้ายๆกันว่าผลกระทบของโควิด-19 จะรุนแรงแต่ไม่ยืดเยื้อ ไตรมาส1 จะหนักมากสุด (อาจถึงขั้น GDP ติดลบ) และจะกระดอนขึ้นเป็น V-shape และกลับมาโตตามเทรนด์เดิมในครึ่งหลังของปี

นั่นคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะ”ติดหล่ม”ชั่วคราวทำให้ดีเลย์แต่ไม่ได้”ตกราง”จนต้องซ่อมแซมกันกว่าจะมาวิ่งเหมือนเดิมได้

แต่ผมมองว่ามีปัจจัยเสี่ยง3ข้อที่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจถึงขั้นตกรางไม่ใช่แค่ติดหล่ม

1. คลื่นหลายระลอก ทำปัญหาไวรัสยืดเยื้อ

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจไม่ใช่คลื่นใหญ่ระลอกเดียวแต่มาหลายระลอก ทำให้ปัญหายืดเยื้ออยู่กับเรานานกว่าที่คิด แทนที่จะจบภายในไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 กลับลากยาวไปกว่านั้น

ไม่ใช่’แค่’จีนหรือเอเชีย

เหตุผลหนึ่งที่ตลาดหุ้นทั่วโลกติดตัวแดงเถือกกลบกระดานติดกันจนมูลค่าหายไป 3.6ล้านล้านเหรียญในสัปดาห์เดียวก็เพราะนักลงทุนทั่วโลกเพิ่งตื่นขึ้นมาพบกับความเป็นจริงที่ว่า โควิด-19 ไม่ใช่โรคระบาดในจีนและประเทศใกล้เคียง แต่กลายเป็นโรคระบาด”ระดับโลก” ที่กระจายไป50ประเทศแล้ว ไล่มาทั้งญี่ปุ่น ภูมิภาคอาเซียน ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และล่าสุดแม้แต่อเมริกาก็อาจถูกกระทบ

ล่าสุด WHO ก็เพิ่งออกมาประกาศยกระดับการเตือนภัยความเสี่ยงการระบาดไปทั่วโลกของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อยู่ระดับ “สูงมาก” ซึ่งเป็นระดับสูงสุด

การที่พิษเศรษฐกิจโควิด-19กระจายไปทั่วโลกแปลว่าแม้จีนจะเริ่มเอาอยู่แล้ว (ซึ่งยังไม่ชัดแต่ดูอัตราการติดใหม่ชะลอลงมาก) ในโลกการต่อสู้กับการระบาดของไวรัสตัวนี้อาจเพิ่งเริ่มขึ้น

ซึ่งแปลว่าแทนที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว อาจจะเจอคลื่นระลอกสองและสามเมื่อเศรษฐกิจอื่นๆกลับเป็นตัวฉุด โดยเฉพาะ อาเซียน ญี่ปุ่น ยุโรป ที่เป็นตลาดสำคัญทางการส่งออกอาจเผชิญหน้าสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ด้านการท่องเที่ยวก็จะฟื้นไม่เต็มที่แม้สถานการณ์ในจีนดีขึ้นหากคนไม่แน่ใจว่าคนชาติไหนบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยง อาการกลัวนักท่องเที่ยวจากจีนอาจกระจายกลายเป็นกลัวนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ!

และยังต้องจับตามองการติดเชื้อในภูมิภาคตะวันออกกลางให้ดีเพราะหากการแพร่ระบาดทำให้เกิด disruption ต่ออุตสาหกรรมน้ำมันอาจทำให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นในยามที่เศรษฐกิจโลกกำลังอ่อนแอ

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมความเสี่ยงที่โควิด-19จะระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศไทยเองซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่เกิดขึ้นและทางเราจะควบคุมอยู่ แต่แม้การแพร่ระบาดในประเทศจะถูกควบคุมอยู่หากการสื่อสารกับประชาชนไม่มีประสิทธิภาพก็อาจทำให้เกิดอาการตื่นตระหนกเป็นวิกฤติทางความมั่นใจที่ฉุดเศรษฐกิจได้เช่นกัน

2. เพราะเราอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว

ทางการแพทย์วันนี้สิ่งที่เรารู้คือ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นอันตรายกับคนที่สุขภาพอ่อนแออยู่แล้ว เช่นคนที่มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุ

ในทางเศรษฐกิจก็เช่นกัน

พิษเศรษฐกิจจากโรคระบาดนี้จะรุนแรงกว่ามากในยามที่เศรษฐกิจอ่อนแออยู่แล้วแต่เดิม เสมือนคนไม่ค่อยมีภูมิคุ้มกัน

ใน2-3ปีก่อนโรคSARS ระบาด ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยเกือบ5% สัดส่วนหนี้ครัวเรือนมีอยู่เพียง40% ของGDP

เทียบกับในช่วง2-3ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 3.5% ปีที่แล้วไม่ถึง 3% แถมเศรษฐกิจฐานรากเช่น ภาคSME ภาคเกษตร อ่อนแอยิ่งกว่าเศรษฐกิจโดยรวม หนี้ครัวเรือนปัจจุบันยังสูงอยู่ที่ประมาณ80% เกือบสองเท่าของสมัยมี SARs

เพราะฉะนั้นประเด็นไม่ใช่แค่ว่าไวรัสโควิด-19คราวนี้แพร่เร็วกว่าSARSและโลกเราเชื่อมโยงกันมากกว่าเก่า แต่เป็นเรื่องที่ว่า”สภาพร่างกาย”ของเราก่อนจะโดนเชื้อนี้ก็อ่อนแอกว่าสมัยก่อนด้วย

พายุชั่วคราวอาจทำชำรุดถาวร

ประเด็นนี้สำคัญเพราะหากธุรกิจกำไรไม่ดีอยู่แล้วไม่ค่อยมีเงินสะสมก่อนโดนพิษเศรษฐกิจโควิด-19 ย่อมไม่เงินก้นถุงมาพยุงตัวฝ่าฟันช่วงที่ยอดขายตกฮวบขาดกระแสเงินสด จนอาจถึงขั้น”เข้าเนื้อ”ต้องลดจำนวนคนงาน ขายที่ เครื่องจักร โรงงานที่มีเพื่อให้อยู่รอด หรือล้มละลาย

หากเป็นเช่นนั้น แม้พายุเศรษฐกิจนี้จะพัดมา”ชั่วคราว”แต่ศักยภาพทางเศรษฐกิจบางส่วนอาจถูกทำลายไปถาวรเพราะ ธุรกิจเจ๊งไปแล้ว คนตกงานไปแล้ว ที่ขายไปแล้ว หนี้ก็กลายเป็นเสียไปแล้ว การจะดึงคนและธุรกิจเหล่านี้กลับมาทำงานใหม่นั้นอาจไม่ง่าย

แม้ปัญหาโรคระบาดผ่านไปเศรษฐกิจก็จะเป็นเสมือนรถไฟที่”เครื่องยนต์ชำรุด”แม้กลับมาวิ่งได้ใหม่ก็อาจวิ่งได้ไม่ดีเท่าเดิม

3. วัคซีนทางเศรษฐกิจมีแต่ใช้ทัน-ถูกที่หรือเปล่า?

หากจะลดความเสี่ยงข้อ 2 ไม่ให้พายุชั่วคราวกลายเป็นปัญหาถาวร รัฐบาลต้องฉีด”วัคซีนทางเศรษฐกิจ” ใช้นโยบายการคลังและการเงินช่วยเพื่อลดผลกระทบจาก โควิด-19 ตั้งแต่ตอนนี้

ที่พอจะเป็นข่าวดีคือ ประเทศไทยมีกระสุนทางการเงินการคลังเพียงพอ

ด้านนโยบายการเงิน

แม้ธปท.จะลดดอกเบี้ยมาจนต่ำเป็นประวัติการณ์แล้วก็ยังมีช่องให้ลดได้อีกหากจำเป็นจริงๆ เนื่องจากเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหาและไม่ต้องกลัวเรื่องค่าเงินอ่อน (ตรงนี้ได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านหลายเจ้า เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย ที่หากลดดอกเบี้ยมากเข้าค่าเงินอาจอ่อนค่าหนักผันผวนหนักจนกระทบความมั่นใจคนในประเทศ)

ทั้งยังมีมาตราการการเงินอื่นที่ไม่ใช่นโยบายดอกเบี้ยที่ทางธปทและสถาบันการเงินต่างๆร่วมกันทำได้ อย่างที่ประกาศออกมาแล้วเช่น การผ่อนผันกฎกติกาชั่วคราวเปิดให้ธนาคารสามารถอัดฉีดสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าที่ประสบปัญหาได้ง่ายขึ้น

หากลองย้อนไปดูในสมัยน้ำท่วม 2554 ธปท.ยังมีมาตราการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านทางสถาบันการเงินให้ผู้ถูกกระทบจากอุทกภัย ที่อาจหยิบนำมาใช้ได้อีกหากสถานการณ์แย่กว่าที่คาดจริงๆ

ด้านนโยบายการคลัง

ประเทศไทยมีช่องทางการใช้นโยบายการคลังช่วยเศรษฐกิจอยู่มากในยามจำเป็น สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่41%ของ GDP ซึ่งถือว่าไม่สูงนัก คำถามคือจะเอาออกมาใช้ได้”เร็วพอไหม”และควรใช้”อย่างไร”

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นห่วงกันก็คือประเด็นว่าการเบิกจ่ายงบประมาณอาจล่าช้าทำให้มาตราการเยียวยานั้นไม่ทันท่วงที และการลงทุนภาครัฐชะลอตัวจากปีก่อนมากในยามที่เศรษฐกิจต้องการที่สุด

แต่อีกประเด็นที่น่าคิดคือควรใช้กระสุนการคลังนี้อย่างไรถึงจะได้ผลที่สุด

หากไปดูสิงคโปร์อีกประเทศที่ถูกกระทบหนักจากไวรัสโคโรนา มีนโยบายสองชุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษ

หนึ่ง นอกจากจะมีมาตราการทางภาษีและสินเชื่อช่วยอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบหนักแล้วในสิงคโปร์ยังมีมาตราการที่เฉพาะเจาะจงช่วยแรงงานและธุรกิจขนาดย่อม (SME) ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น

– มีโครงการให้เงินชดเชยค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนให้ธุรกิจเพื่อไม่ให้ไล่คนออกในยามเผชิญพายุทางเศรษฐกิจ
– โครงการให้เงินสนับสนุนบริษัทให้ส่งคนไปอบรมฝึกทักษะใหม่ (Reskill และ Upskill)ในช่วงที่ไม่ค่อยมีงานทำ พอเศรษฐกิจฟื้นจะได้มีทักษะใหม่ติดตัวไปใช้
– ทั้งยังมีงบช่วยลดภาระค่าเช่าในรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบหนักเช่น ท่องเที่ยว

หลักการก็คือช่วยลดภาระด้าน fixed costs (ค่าใช้จ่ายที่ขายไม่ออกก็ยังต้องจ่าย!) เพื่อไม่ให้ธุรกิจโดยเฉพาะขนาดเล็กต้องถูกบีบให้ลดคนหรือขายที่ จนทำธุรกิจไม่ได้เต็มที่ในวันที่เศรษฐกิจฟื้นแล้ว

ที่สำคัญคือพวกโครงการที่ว่านี่มีการดีไซน์ออกมาเพื่อให้SMEได้ประโยชน์มากกว่าธุรกิจทั่วไปถึง 5 เท่า (วัดในเชิงสัดส่วนของเม็ดเงินที่ได้ต่อรายได้บริษัท)

สอง สิงคโปร์มีงบจัดเพิ่มไปช่วยเจ้าหน้าที่ที่ต้องต่อสู้กับโควิด-19 โดยตรงเช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพนักงานโรงพยาบาลรัฐ

นอกจากนี้ล่าสุดมีการประกาศว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสส. สิงคโปร์จะพร้อมใจไม่รับเงินเดือน เป็นเวลา1 เดือน และนำเงินไปเพิ่มโบนัสให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ที่ต้องทำงานหนักเป็นพิเศษช่วงวิกฤติไวรัสโคโรนา

ซึ่งนอกจากจะเป็นการโอนเงินจากผู้มีรายได้สูงไปให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่าแล้วยังทำเพื่อพยายามสร้างความสมานฉันท์แบ่งทุกข์ในยามยาก

ติดหล่ม ตกราง แต่อย่าให้เครื่องชำรุด

ที่ผมชวนคิดถึงสามปัจจัยเสี่ยงนี้ไม่ใช่เพื่อจะวาดภาพให้กลัวแต่เพราะคิดว่าความเสี่ยงที่ว่าเราอาจพอป้องกันได้หากรู้ตัวก่อน

จริงอยู่ว่าบางส่วนเราคุมไม่ได้ เช่น การแพร่ระบาดระลอกต่อๆมาในประเทศอื่นนอกจากจีน

แต่บางส่วนเราพอจัดการได้ เช่น การติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อและควบคุมดูแลไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดวงกว้างในประเทศ

การสื่อสารให้ถูกวิธีเหมาะสมกับยุคแห่งข้อมูลเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกและความไม่เชื่อใจในภาครัฐ เช่น เปิดช่องทางการสื่อสารกับประชาชนที่มีประสิทธิภาพ พูดความจริงยอมรับถึงปัญหา อย่าปกปิดข้อมูลและอัพเดทแนวทางการแก้ไขอย่างมีสติสม่ำเสมอ

อีกทั้งการใช้มาตราการการคลังและการเงินที่ถูกจุด ถูกรูปแบบ ทันเวลาและเพียงพอ

หากทำได้จะลดความเสี่ยงการที่เศรษฐกิจจะตกราง หรือถ้าต้องตกรางจริงๆก็อย่าให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจเราชำรุดจนวิ่งได้ไม่เหมือนเก่าเมื่อ’พายุโควิด-19’พัดผ่านไป

รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง