การพัฒนามนุษย์ทั่วโลก เติบโตต่ำสุดในรอบ 35 ปี แนะใช้ AI แก้ปัญหาร่วม

เมื่อไม่นานมานี้ มีการเปิดเผยรายงานล่าสุดจากทาง UNDP ที่ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนามนุษย์กาลังเผชิญกับภาวะชะลอตัวทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1990
สะท้อนให้เห็นว่า แม้โลกจะผ่านเวลาที่เลวร้ายสุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถกลับไปฟื้นตัวได้เต็มที่ และดูเหมือนว่า มีแนวโน้มจะเลวร้ายลง
คำถามคือ แล้วเรื่องนี้สำคัญ และจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเรา หากโลกยังนิ่งเฉยต่อไป ?
ดัชนีการพัฒนามนุษย์คืออะไร ?
ดัชนีการพัฒนามนุษย์ หรือ HDI ว่าง่าย ๆ คือ เป็นตัววัดผลสรุปของการพัฒนามนุษย์ ซึ่งจะวัดผลโดยรวมของความสำเร็จโดยเฉลี่ยของประเทศ ใน 3 ด้านพื้นฐานของการพัฒนาคน ได้แก่ สุขภาพ ความรู้ และมาตรฐานการครองชีพ
ค่า HDI ใช้เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้กำหนดนโยบาย สื่อมวลชน และองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ และเพื่อเปลี่ยนจุดเน้นจากสถิติเศรษฐกิจปกติไปที่ผลลัพธ์ของมนุษย์ ดัชนีนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเน้นย้ำอีกครั้งว่าผู้คนและศักยภาพของพวกเขาควรเป็นเกณฑ์สูงสุดในการประเมินการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจ
ส่วนดัชนีการพัฒนามนุษย์ของประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 76 จาก 193 ประเทศ ทำให้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี ‘การพัฒนามนุษย์สูง’ ซึ่งลดลงมาเล็กน้อยจากปีที่แล้ว ที่ไทยเคยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “การพัฒนามนุษย์สูงมาก”
ช่องว่างความเหลื่อมล้ำขยายวงกว้าง 4 ปีติดต่อกัน
ดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่ชะลอตัว ย่อมทำให้เกิดปัญหา และความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาภายหลัง โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่อาจจะทำให้เป้าหมายปี 2030 ที่โลกเคยตั้งไว้ ไปไม่ถึงฝั่งฝัน
ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจนขยายกว้างมากขึ้นเป็นระยะเวลา 4 ปีติดต่อกัน
เมื่อย้อนไปดูรายงาน SDG Updates ระบุว่า ปี 2021 กลุ่มที่รวยที่สุด 10% ของโลก ซึ่งคิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ของประชากรทั้งหมดกำลังครอบครอง 52% ของรายได้ทั้งหมดของโลก
ขณะที่ กลุ่มคนที่จนที่สุดกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือกว่า 2.5 พันล้านคน กลับครอบครองเพียง 8.5% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น และรายได้ของกลุ่มรวยที่สุด 10% มีรายได้มากกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 5 เท่า
การที่ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำขยายตัวมากขึ้น จะส่งผลให้การฟื้นตัวในหลาย ๆ ด้านชะลอตัว ทั้งทางเศรษฐกิจ หรือ คุณภาพชีวิต ซึ่งจะกระทบหนักสุดในกลุ่มประเทศยากจน
อาคิม สไตเนอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ประจำ UNDP เผยว่า การชะลอตัวครั้งนี้ ส่งสัญสัญญาณแห่งภัยคุกคามที่แท้จริงต่อความก้าวหน้าของการพัฒนามนุษย์ระดับโลก หากความล่าช้าปี 2024 เป็นบรรทัดฐานใหม่ของประเทศต่าง ๆ เป้าหมายสำคัญที่โลกอยากให้เกิดขึ้นในปี 2030 จะล่าช้าไปอีกหลายสิบปี ซึ่งจะทำให้โลกมีความปลอดภัยน้อยลง แตกแยกมากขึ้น เสี่ยงต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศมากขึ้น
UNDP แนะใช้ AI พัฒนามนุษย์ร่วมด้วย
เมื่อเรารู้แล้วว่า การพัฒนามนุษย์เติบโตต่ำสุดในรอบ 35 ปี รายงานฉบับนี้ ก็ได้มองหาแนวทางการแก้ไข ด้วยการแนะนำให้ใช้ AI เข้ามาใช้ร่วมด้วย แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการใช้ที่เหมาะสม
UNDP ชี้ว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อาจจะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการพัฒนามนุษย์ให้ก้าวหน้าได้อีกครั้ง ทั้งด้านการศึกษา, การดูแลสุขภาพ, สร้างทักษะและโอกาสใหม่ ๆ, ช่วยให้ผู้คนมีประสิทธิผลมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยากจน
ผลสำรวจ ระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 60% คาดว่า AI จะส่งผลเชิงบวกต่อการทำงาน และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้พวกเขา มีเพียง 13% เท่านั้น ที่มองว่า AI จะทำให้พวกเขาตกงาน
ขณะที่ ประชากรในกลุ่มประเทศยากจน 70% คาดหวังว่า AI จะทำให้พวกเขามีประสิทธิผลมากขึ้น
ส่วนแนวทางของการใช้ประโยชน์จาก AI ในการพัฒนามนุษย์ มีดังนี้
1.สร้างเศรษฐกิจที่ผู้คนสามารถทำงานร่วมกับ AI แทนที่จะแข่งขันกับ AI
2.ผนวกตัวแทนของมนุษย์ไว้ในวงจรชีวิตของ AI ทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการใช้งาน
3.ใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อปรับปรุงระบบการศึกษาและสุขภาพให้ทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการในศตวรรษที่ 21
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.undp.org/thailand/press-releases/human-development-reaches-35-year-global-low
https://news.un.org/en/story/2025/05/1162926
https://www.who.int/data/nutrition/nlis/info/human-development-index
https://www.sdgmove.com/2022/05/26/sdg-updates-world-inequality-report-2022/