จีน-อินเดียค้าขายได้แม้ขัดแย้งพรมแดน
อุปสรรค์ด้านภูมิศาสตร์และภัยธรรมชาติ
- พรมแดนจีน-อินเดียกถูกกั้นโดยเทือกเขาหิมาลัย มีความสูงชันและมีแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง แผ่นดินไหวเกิดจากการชนกันของเปลือกโลกและเป็นผลให้เกิดเทือกเขาใหม่ หรือทำให้เทือกเขาเดิมมีความสูงมากขึ้นทุกปี
- โลกที่ร้อนขึ้นทำให้สภาวะอากาศในเทือกเขาหิมาลัยผันผวน เกิดหิมะตกสลับกับฝน เทือกเขาหิมาลัยอันตรายขึ้น เกิดน้ำท่วมหลาก เกิดดินถล่มครั้งใหญ่ ปิดกั้นถนน ทางขาดบ่อยครั้งเป็นต้น
- นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งหดตัว โดยธารน้ำแข็งยิ่งหดตัวมากเท่าไร จะเกิดธารน้ำแข็งถล่มและทำให้เกิดหิมะถล่มรวมถึงดินถล่มตามมาได้ง่ายขึ้น เช่น ในธิเบตเมื่อปี 2016 และในแคชเมียร์ ปากีสถานเมื่อปี 2012 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ความผันผวนที่รุนแรงของธรรมชาติทำให้ เส้นทางที่มีอยู่เดิมเปิดใช้ได้เพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น วิธีแก้ไขคือต้องมีการสร้าง All Weather Road หรือ ถนนที่สามารถทนทานต่อทุกสภาพอากาศ ซึ่งขณะนี้จีนและอินเดียต่างกำลังมีการสร้าง All Weather Road ทั้งสองฝั่งของเทือกเขาหิมาลัย แต่โครงการถนนที่เกิดขึ้นยังไม่อาจเชื่อมถึงกันในเร็ววันนี้เนื่องจากความขัดแย้งเรื่องพรมแดนระหว่างจีนและอินเดีย
คีธ แลมป์ นักวิเคราะห์ด้านการพัฒนาสังคมนิยมจีนและความเหลื่อมล่ำของประชาคมโลก ให้ความคิดเห็นใน Global Time ว่า การวางปัญหาข้อพิพาทระหว่างพรมแดนจีนและอินเดีย ยังไม่อยู่ในบริบทที่เหมาะสมและสามารถหาทางออกที่สามารถปฎิบัติได้จริง และ อินเดียใกล้ชิดกับฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ จึงมีความอ่อนไหวไปตามกระแสตะวันตก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างจีนและอินเดียจึงไม่คืบหน้า
อย่างไรก็ตามอินเดียเป็นคู่ค้าสำคัญของจีน กรมศุลกากรจีนเผยมูลค่าการค้าจีนและอินเดียในครึ่งปีแรกของ 2566 สูงถึง 66,020 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอินเดียนำเข้าจากจีนเป็นมูลค่า 56,530 ล้านบาท และอินเดียส่งออกไปจีน 9,490 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เส้นทางการขนส่งที่อินเดียและจีนใช้เป็นหลักคือ เรือขนส่งสินค้า การขนส่งทางอากาศ
สำหรับการขนส่งทางบก ถนนจากเมืองสิกขิมผ่านเทือกเขาหิมาลัยเคยเป็นตัวเลือกหนึ่งในการขนส่งสินค้าไปยังจีน โดยก่อนหน้าจีนและอินเดียจะมีความขัดแย้งด้านพรมแดน การขนส่งสินค้าระหว่างกันจะใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน แต่สามารถใช้เส้นทางได้เพียงบางช่วงเวลาเท่านั้นเนื่องจากอุปสรรคด้านภูมิศาสตร์และภัยธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม แม้ความขัดแย้งด้านพรมแดนจะเป็นอุปสรรคขวางไม่ให้จีนและอินเดียสามารถขนส่งสินค้าทางบกได้โดยตรง จีนมีความพยายามลดระยะทางการขนส่งให้ได้ใกล้ที่สุด เช่น
- ทางรถไฟ จีน-เนปาล-อินเดีย
โครงการนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1. ทางรถไฟจีน-เนปาล โดยเชื่อมเส้นทางจากเมืองกีหรง ในทิเบต เข้าไปยัง กรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลซึ่งมีระยะทาง 170.4 กิโลเมตร
ความเร็วในการเดินรถไฟสูงสุด 120 กม ต่อชั่วโมง
ความกว้างของราง 1.435 เมตร
ข้อมูลจาก UNESCAPE ระบุว่าทางรถไฟนี้มี มูลค่า 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 188,375ล้านบาท) หรือ เฉลี่ยกิโลเมตรละ 1,108 ล้านบาท
ทางรถไฟสายนี้มูลค่าสูงกว่าทางรถไฟลาวจีนที่มีมูลค่าเฉลี่ยกิโลเมตรละ 195 ล้านบาท เนื่องจากทางรถไฟต้องตัดผ่านเทือกเขาหิมาลัย ที่มีความผันผวนทางสภาพอากาศ และเป็นพื้นที่แผ่นดินไหว ดังนั้นทางรถไฟในฝั่งเนปาลที่มีความยาวราว 72 กิโลเมตร กว่าร้อยละ 98 เป็นสะพานและอุโมงค์
เมื่อเดือนมกราคม 2566 กลุ่มนักสำรวจจาก China Railway First Survey and Design Institute Group กลุ่มแรกได้เดินทางถึงเนปาลและได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง โดยระยะเวลาในการศึกษาความเป็นไปได้ไม่ต่ำกว่า 42 สัปดาห์ หรือเกือบ 11 เดือน
อย่างไรก็ตาม กาฐมาณฑุ post สื่อมวลชนท้องถิ่นตั้งข้อสังเกตว่า การเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของจีนปลุกความสนใจแก่อินเดีย ให้หันมาสนใจสร้างทางรถไฟเชื่อมจากอินเดียมายังเนปาลโดยมีจุดสิ้นสุดที่กรุงกาฐมาณฑุเช่นกัน ส่วนที่ 2 ของโครงการจึงเป็นเส้นทางที่ทางอินเดียให้การสนับสนุน นั่นคือ
2. ทางรถไฟ Raxaul-Kathmandu
โลหิต กุมาร บิสุรัล ผู้อำนวจการการรถไฟอินเดียเผยว่า การรถไฟอินเดียทำการสำรวจพื้นที่ก่อสร้างทางรถไฟจาก Raxaul ไปยังกาฐมาณฑุและมีแผนว่าจะทำรายงานการสำรวจเสร็จสมบูรณ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม
เส้นทางนี้มีระยะทาง 135.8 กิโลเมตร
ความกว้างของราง 1.676 ม.
ความเร็วในการเดินรถไฟสูงสุด 120 กม ต่อชั่วโมง
มูลค่าการก่อสร้างราว 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 102,750 ล้านบาท
-โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปากีสถานซึ่งได้รับการสนับสนุนภายใต้ China-Pakistan Economic Corridor (CPEC) หรือ โครงการระเบียงเศษฐกิจจีน-ปากีสถาน ซึ่งส่งเสริมการการเชื่อมโยงระหว่างจีนและเอเชียใต้โดยเฉพาะ
เช่น โครงการบูรณะเส้นทางรถไฟที่เชื่อมโยงท่าเรือกวาดาห์ ท่าเรือใหม่ทางตอนใต้สุดของปากีสถานจนไปถึงเปชาวาห์ ชายแดนปากีสถาน-อิหร่าน โดยเส้นทางรถไฟสายนี้เชื่อมต่อกับอินเดียผ่าน Lahore ซึ่งเป็นเมืองชายแดนเดียวของปากีสถานที่สามารถเดินทางและขนส่งสินค้าไปยังอินเดียได้
นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างถนนในรูปแบบ All Weather Road หรือ ถนนที่สามารถทนทานต่อทุกสภาพอากาศ จากกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน ไปยัง เขตซินเจียงของจีน
- เส้นทาง ระเบียงการค้าระหว่างประเทศทางบกและทางทะเลแห่งใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor) ซึ่งอินเดียให้ความสนใจ โดยเป็นเส้นขนส่งแบบผสมผสานทั้งทางบกและทางทะเลโดยผ่านอาเซียน เช่น
- การขนส่งข้ามแดนทางเรือไปยังมาเลเซียและเข้าสู่ระบบรางซึ่งมีเส้นทางเชื่อมต่อถึงไทย สปป. ลาว และไปถึงยังยูนนานในจีน ซึ่งสามารถส่งสินค้าไปยังปลายทางในเอเชียกลางและยุโรปได้อีกด้วย เป็นต้น
- นอกจากนี้เว็บไซต์ India Brifing ยังแนะนำเส้นทาง Bangladesh-China-India-Myanmar Economic Corridor (BCIMEC) หรือ ระเบียงเศรษฐกิจ บังคลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างจีนและอินเดียที่ต้องการรื้อฟื้นเส้นทางสายไหม โดยเริ่มต้นเส้นทางจากกัลกาต้า ผ่านเข้าไปยังกรุงดักการ์ บังคลาเทศ ออกไปยังเมียนมาร์ผ่านเมือง มัณฑะเลย์ สิ้นสุดที่คุนหมิง
แม้ว่าอินเดียจะมีความขัดแย้งระหว่างกันด้านพรมแดนกับจีน แต่การค้าระหว่างสองชาติยังคงให้ประโยชน์แก่กันและกัน เราจึงได้เห็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรอบรั้วอินเดียที่รอคอยการเชื่อมต่อ หากทำสำเร็จอินเดียที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้จะกลายเป็นหัวใจการขนส่งของภูมิภาค และจะช่วยเชื่อมต่อเส้นทางการค้าจากตะวันออกไกลไปยังยุโรปและแอฟริกาได้อย่างไร้รอยต่อ
เรียบเรียง และดำเนินรายการ โดย ธัญวรัตน์ ถาวรโชติวงศ์