รีเซต

โควิดโอไมครอน XBB สายพันธุ์ลูกผสม คาดระบาดแทนที่ BA.5 สิ้นปีนี้หรือปี 2566

โควิดโอไมครอน XBB สายพันธุ์ลูกผสม คาดระบาดแทนที่ BA.5 สิ้นปีนี้หรือปี 2566
TNN ช่อง16
6 ตุลาคม 2565 ( 09:40 )
97

โควิด-19 โอไมครอน "XBB" สายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอไมครอน “BJ.1” และ “BA.2.75” ซึ่งมีบรรพบุรุษร่วมกันมาคือ “BA.2” ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ "กริฟฟอน (Gryphon)" 

มีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้เหนือกว่าไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อน ดื้อต่อแอนติบอดีสังเคราะห์ทุกชนิด (ทดสอบในหลอดทดลอง) พบในประเทศสิงคโปร์ อินเดีย และบังกลาเทศ เป็นส่วนใหญ่ ยังไม่พบในประเทศไทย ปรากฏในฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก "GISAID" 59 ราย

จากการที่นักวิจัยทั่วโลกช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 มาตลอด 3 ปีทำให้สามารถสร้างต้นไม้แห่งการวิวัฒนาการของไวรัสโคโรนา 2019 (ด้วยระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง) 

เริ่มตั้งแต่ต้นกำเนิดจาก “ไวรัสอู่ฮั่น” ได้มีการวิวัฒนาการกลายพันธุ์เกิดเป็นทั้งสายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อยแตกแขนงมาทดแทนกันอย่างต่อเนื่อง (phylogenetic tree) จนล่าสุดเกิดเป็นโอไมครอน 4 สายพันธุ์ย่อยฺ BQ.1.1, BA.2.3.20, BA.2.75.2, XBB ที่คาดว่าจะระบาดมาแทนที่ BA.5 ในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2566 (ภาพ1)


โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย XBB เป็นลูกผสมระหว่างโอไมครอนสายพันธุ์ BJ.1 และ BA.2.75 มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านไม่ยอมรับว่า "กริฟฟอน (Gryphon)" เป็นสัตว์ในเทพนิยายกรีกหัวและปีกเป็นนกอินทรีย์ ลำตัวเป็นสิงโต (ภาพ2) กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสอู่ฮั่นไปกว่า 100 ตำแหน่ง มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) กว่าทุกสายพันธุ์ในปัจจุบัน แต่ไม่มากนัก


โอไมครอน XBB  มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 1.86 เท่า (186%) (ภาพ 3)


โอไมครอน XBB  มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.2.75.2 ประมาณ 1.1 เท่า (110%) (ภาพ 4)


โอไมครอน XBB  มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.2.3.20 ประมาณ 0.2 เท่า (22%) (ภาพ 5)


โอไมครอน XBB  มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BQ.1.1 เพียงเล็กน้อยประมาณ 0.04 เท่า (4%) (ภาพ 6)


จากการทดสอบในหลอดทดลองพบว่าโอไมครอน XBB หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้เหนือกว่าไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อน และดื้อต่อแอนติบอดีสังเคราะห์ทุกชนิดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน (7)


โอไมครอน XBB จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” พบเพียง 59 ราย พบมากในประเทศบังกลาเทศ สิงคโปร์ และอินเดีย (ภาพ8)


โอไมครอน BA.2.3.20 จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” พบ 178 ราย พบมากในประเทศสิงคโปร์ และบูรนัย (ภาพ9)


 โอไมครอน BQ.1.1 จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” พบ 354 ราย พบมากในประเทศไนจีเรีย และเบลเยียม (ภาพ10)


 โอไมครอน BA.2.75.2 จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” พบ 960 ราย พบมากในประเทศสิงคโปร์ และอินเดีย (ภาพ11)


เป็นที่น่าสังเกตว่าโอไมครอน 4 สายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ไปมากกว่า 100 ตำแหน่งต่างจากไวรัสอู่ฮั่นและมีแนวโน้มจะเข้ามาแทนที่ BA.5 ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า มีถึง 3 สายพันธุ์คือ XBB, BA.2.3.20, และ BA.2.75.2 ที่พบมากในประเทศสิงคโปร์ อินเดีย และบังกลาเทศ

หลายฝ่ายกังวลถึงการระบาดของ “โอไมครอน” ระลอกใหม่ในช่วงฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ ธันวาคม 2565 ของประเทศในแถบซีกโลกเหนือซึ่งอาจมีความรุนแรง.


ข้อมูลและภาพประกอบจาก 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล

ภาพปกโดย แฟ้มภาพ AFP



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง