รีเซต

หวั่นวิกฤตเชื้อดื้อยาไม่ลด จี้กรมปศุสัตว์พัฒนาสวัสดิภาพสัตว์อย่างเป็นรูปธรรม

หวั่นวิกฤตเชื้อดื้อยาไม่ลด จี้กรมปศุสัตว์พัฒนาสวัสดิภาพสัตว์อย่างเป็นรูปธรรม
TNN ช่อง16
23 พฤศจิกายน 2566 ( 20:45 )
46

กรุงเทพฯ, 21 พ.ย. 2566 – องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย  (World Animal Protection) ส่งท้ายแคมเปญ “บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม” ผนึกภาคีเครือข่าย เดินหน้าเข้าพบ นายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ พร้อมส่งมอบรายชื่อประชาชนเรียกร้องการหยุดเชื้อดื้อยาและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้น 

แคมเปญ “บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึด สู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม” เป็นกิจกรรมที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย พร้อมภาคีเครือข่ายต่างๆ จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องตลอดเดือนพฤศจิกายน ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็น World Antimicrobial Awareness Week (สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านจุลชีพโลก) เพื่อเน้นย้ำถึงวิกฤตเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ผ่านกิจกรรมพายซัพบอร์ด 

โดยนำร่องแม่น้ำ สายแรก แม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2566 และในวันที่ 11 พ.ย. 2566 ล่องแม่น้ำสายที่สอง แม่น้ำนครชัยศรี  จ.นครปฐม และปิดท้ายกิจกรรมในวันที่ 21 พ.ย. 2566 โดยเข้าพบ นายสัตวแพทย์ รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อกล่าวแถลงการณ์และส่งมอบรายชื่อประชาชน 15,000 คน ร่วมเรียกร้องการหยุดเชื้อดื้อยาและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้นโดยด่วน พร้อมรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ โดยทีมซัพบอร์ด และเรือพร้อมป้ายข้อความ “หยุดเชื้อดื้อยา พัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม” ในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากท่าเรือ สน.บางโพ ผ่านรัฐสภา วัดอรุณราชวรารามฯ สะพานพระพุทธยอดฟ้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสิ้นสุดที่สะพานพระรามแปด

รายงานล่าสุดขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ในเดือน ต.ค. 2566 ยังคงพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในแหล่งน้ำสาธารณะ และบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรรม อาทิ ฟาร์มสุกร และฟาร์มไก่ ใน จ.นครราชสีมา จ.ฉะเชิงเทรา และจ.นครปฐม ซึ่งเป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่งที่ผลตรวจเชื้อแบคทีเรียดื้อยานั้นไม่ต่างจาก 4 ปีก่อน โดยยังคงมีการพบเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะชนิดรุนแรงในแบคทีเรีย Escherichia coli (E.coli) และ Klebsiella จากตัวอย่างน้ำและดินรอบฟาร์ม

ซึ่งกลุ่มยาที่พบเชื้อดื้อยามากที่สุดคือ Ampicillin รองลงมาคือ Amoxy-clavulanate และ Tetracycline ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่นิยมใช้ในฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม โดยยาชนิดนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อรักษาผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ ภาวะติดเชื้อที่หูในกระแสเลือด รวมถึงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งหากคนได้รับเชื้อดื้อยาและเจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล

และล่าสุดข้อมูลจากวารสารการแพทย์ The Lancet เผยผลการสำรวจใหม่ ชี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาในประเทศไทยพุ่งสูงถึงปีละ 43,855 คน หรือมีคนไทยเสียชีวิตถึง 5 คนในทุกๆ ชั่วโมง ในขณะที่ยาปฏิชีวนะยังถูกใช้อย่างมหาศาลในฟาร์มอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนสวัสดิภาพสัตว์ที่เลวร้าย




ข่าวที่เกี่ยวข้อง