ซากโบราณเผยการค้า 'เส้นทางสายไหมทางทะเล' ยุคราชวงศ์จีน
ฝูโจว, 14 ธ.ค. (ซินหัว) -- เมืองเฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกของจีน หนึ่งในเมืองท่าสำคัญที่สุดตามแนวเส้นทางสายไหมทางทะเลโบราณ รายงานการค้นพบทางโบราณคดีครั้งใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการขุดสำรวจระหว่างปี 2019-2020
เสิ่นรุ่ยเหวิย ศาสตราจารย์คณะโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์วิทยาประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่ง อ้างอิงผลวิจัยและการขุดสำรวจล่าสุด ณ ซากโรงเหล็กในอำเภออันซีของเฉวียนโจว ระบุว่าซากโรงเหล็กโบราณเคยผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญตามแนวเส้นทางสายไหมทางทะเลโบราณ โดยเฉพาะยุคราชวงศ์ซ่ง (ปี 960-1279) และราชวงศ์หยวน (ปี 1271-1368)
หวังโป นักวิจัยจากสถาบันโบราณคดี สังกัดสถาบันสังคมศาสตร์จีน กล่าวว่ามีการค้นพบโบราณสถานอีก 2 แห่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นซากของหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบในช่วงสองราชวงศ์ข้างต้น โดยหนึ่งในนั้นกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับเครือญาติจักรพรรดิ ขณะอีกหน่วยงานทำหน้าที่คล้ายศุลกากรยุคปัจจุบัน
"โบราณสถานทั้งสองแห่งบ่งชี้ว่าครั้งหนึ่งเฉวียนโจวมีบทบาทสนับสนุนราชวงศ์จีนโบราณ โดยเฉพาะการค้าทางทะเล" อันเจียเหยา นักโบราณคดีอาวุโสเปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวระหว่างพบปะนอกรอบงานสัมมนา ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเฉวียนโจวเมื่อวันที่ 11-12 ธ.ค. ที่ผ่านมา
การค้นพบอีกรายการหนึ่งที่ถูกเปิดเผยในงานสัมมนา ได้แก่ วิวัฒนาการเทคโนโลยีการผลิตของจีนตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งจนถึงราชวงศ์ชิง (ปี 1644-1911) ในอำเภอเต๋อฮว่า โดยมีหลักฐานยืนยันจากวัตถุโบราณหลายพันชิ้นที่ขุดพบในซากเตาเผา 5 เตา
เฉวียนโจวเป็นที่ตั้งของโครงการมรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก (UNESCO) แห่งเดียวของจีนในปี 2020 ที่มีชื่อว่า "เฉวียนโจว : ศูนย์การค้าโลกยุคซ่ง-หยวนของจีน" (Quanzhou: Emporium of the world in Song-Yuan China) โดยโครงการประกอบด้วยโบราณสถาน 22 แห่ง ซึ่งรวมถึง 4 แห่งที่ถูกเปิดเผยในงานสัมมนา
"เฉวียนโจวโดดเด่นในแง่ความสลักสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเมืองแห่งนี้สืบสานแนวทางการวางผังและก่อสร้างเมืองมาตั้งแต่ยุคปลายราชวงศ์ถัง (ปี 618-907) ถึงราชวงศ์ชิง" หวังกล่าว
ทั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเฉวียนโจวจะเดินหน้าขุดสำรวจโบราณสถานบางแห่งของโครงการฯ และดำเนินแผนการอนุรักษ์ระยะยาวต่อไป