บิ๊กอู๋ ถก กมธ.แรงงาน เกาะติดมาตรการเยียวยาลูกจ้างไทย-ต่างด้าว พ้นวิกฤตโควิด–19
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา เรียกประชุมคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา โดยเชิญผู้แทนกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจงแนวทางการดำเนินงานในประเด็นการติดตามช่วยเหลือแรงงานในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด–19 โดยเฉพาะเรื่องของต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง
พล.ต.อ.อดุลย์ เปิดเผยว่า ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงกรณีต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง มีแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งประเทศอยู่แล้ว โดยการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ เพื่อควบคุม ยับยั้ง ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด–19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมทั้งให้แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองหรือผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการทำงานที่ถูกต้อง อีกทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และทำให้เกิดความมั่นคงของระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย (Big Data)
“นอกจากนี้ ยังมีมาตรการตรวจคัดกรองโควิด-19 แก่แรงงานเชิงรุกในสถานประกอบการ หรือ สมุทรสาครโมเดล จะช่วยให้การค้นหาผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วยิ่งขึ้น หากตรวจพบเชื้อก็สามารถเข้าสู่การรักษาตามแนวทางที่กรมควบคุมโรคกำหนด ตั้งแต่วันที่ 9-25 มกราคม 2564 พบว่า มีผู้ประกันตนรับการตรวจคัดกรองเชิงรุกในสถานประกอบการ ในพื้นที่ จ.สมุทรสาครแล้ว จำนวน 25,162 ราย” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว
ส่วนประเด็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า มีการเตรียมความพร้อมกำลังแรงงานโดยเน้นการแนะแนวอาชีพให้กับนักเรียนนักศึกษาในสาขาอาชีพ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การจัดงาน Job Expo Thailand 2020 ทำให้มีผลการบรรจุงานแล้วกว่า 850,000 อัตรา (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มกราคม 2564) นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทั้งการ Up Skill/Re Skill/และ New Skill ให้แก่ประชาชนทั่วไปและในพื้นที่อีอีซี
“ประเด็นมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 โดยให้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน รวมกันไม่เกิน 90 วัน ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้เปิดให้นายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.sso.go.th อยู่ในขณะนี้” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว
นอกจากนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2563 จัดเก็บเงินสมทบฝ่ายนายจ้างในอัตราร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตนจัดเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 33 ในอัตราร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง ระยะเวลา 2 เดือน (กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564) ผู้ประกันตนมาตรา 39 จัดเก็บในอัตราเดือนละ 38 บาท รัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิมร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนด้วย