รีเซต

สธ.จัดระบบด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับการชุมนุม

สธ.จัดระบบด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับการชุมนุม
TrueID
19 กันยายน 2563 ( 13:15 )
112

กระทรวงสาธารณสุขจัดระบบด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับการชุมนุมวันที่ 19-20 กันยายน ตั้งจุดคัดกรอง เตรียมหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์อย่างละ 1 แสนชิ้น ขอทุกคนสวมหน้ากาก เขียนโรคประจำตัวและยาจำเป็นติดกระเป๋า ร่วมกันป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 พร้อมจัดจุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นและโรงพยาบาล 20 แห่งดูแลรักษาหากมีอาการฉุกเฉินรุนแรง

 

วันนี้ (19 กันยายน 2563) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดวอร์รูมประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ซึ่งมีรายงานว่า จะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 2.5-5 หมื่นคน โดยเตรียมความพร้อม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการควบคุมและป้องกันโรค ทั้งโรคโควิด 19 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และปัญหาสุขภาพจิต ด้านการดูแลรักษาเบื้องต้นในพื้นที่ และการส่งต่อรักษาพยาบาลเมื่อมีอาการรุนแรง

 

 

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า การควบคุมและป้องกันโรคโควิด 19 เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยผู้ชุมนุมอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการมีคนมาอยู่รวมกันจำนวนมากและไม่สามารถรักษาระยะห่างกันได้ จึงขอให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมประเมินตนเอง หากมีอาการเจ็บป่วยเป็นไข้ขอความร่วมมือไม่เข้าร่วมการชุมนุม อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้จัดจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิ โดยผู้ที่ผ่านการคัดกรองจะได้รับเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 1 หลอด และหน้ากากอนามัย 1 ชิ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจัดเตรียมไว้อย่างละ 1 แสนชิ้น และขอให้ผู้มาชุมนุมสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกคน เพื่อร่วมกันดูแลไม่ให้เกิดการระบาดของโรคโควิด 19 นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวให้เขียนติดกระเป๋าว่ามีโรคประจำตัวอะไร รับประทานยาอะไร หรือมีอาการแพ้ยาอะไร เพื่อความสะดวกในการช่วยเหลือทางการแพทย์

 

 

นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า การดูแลรักษาเบื้องต้นในพื้นที่ มีการจัดจุดบริการเป็นหน่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นในการดูแล เช่น อาการท้องเสีย เจ็บปวดต่างๆ เป็นลม แต่หากมีอาการมากขึ้น เกิดอาการทางหัวใจ หรืออาการที่ประเมินว่ามีความรุนแรง ขอให้ติดต่อจุดบริการเพื่อส่งทีมเข้าไปดูแลช่วยเหลือ โดยมีการจัดระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ 20 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลรัฐ 10 แห่ง เช่น โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลราชวิถี เป็นต้น และโรงพยาบาลเอกชน 10 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลมิชชั่น โรงพยาบาลเจ้าพระยา โรงพยาบาลพญาไท 1 โรงพยาบาลพญาไท 2 โรงพยาบาลพญาไท 3 โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน โรงพยาบาลหัวเฉียว โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และโรงพยาบาลธนบุรี โดยผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ป่วยจำนวนมากกรณีมีความรุนแรงเกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจัดเตรียมหน่วยบริการของเขตสุขภาพที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานครรองรับเข้ามาช่วยเหลือ

 

ทั้งนี้ ขอให้ชุมนุมโดยสงบ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อหรือติดเชื้อเกิดขึ้น ขอให้อยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ มีการตั้งกรุ๊ปไลน์ระหว่างกัน หากมีการติดเชื้อสามารถช่วยเหลือดูแล ติดตาม และควบคุมโรคได้ง่ายขึ้น เป็นการชุมนุมอย่างปลอดภัยกับทุกคน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง