รีเซต

WTO ชี้ สงครามยูเครนทำการค้าโลกปี’65 เติบโตลดลงครึ่งหนึ่ง

WTO ชี้ สงครามยูเครนทำการค้าโลกปี’65 เติบโตลดลงครึ่งหนึ่ง
มติชน
12 เมษายน 2565 ( 12:53 )
97
WTO ชี้ สงครามยูเครนทำการค้าโลกปี’65 เติบโตลดลงครึ่งหนึ่ง

องค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า การทำสงครามในยูเครนของรัสเซียอาจทำให้การเติบโตของการค้าโลกลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในปี 2565 และจะฉุดผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ของโลกให้ลดลงด้วยเช่นกัน

 

องค์การการค้าโลกชี้ว่า การรุกรานของรัสเซียไม่เพียงแต่ส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ แต่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกอีกด้วย ในระยะยาวความขัดแย้งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเกิดการสลายตัวไปสู่ระบบเศรษฐกิจของกลุ่มต่างๆ ที่แยกจากกัน

 

องค์การการค้าโลกบอกว่า แม้สัดส่วนของเศรษฐกิจรัสเซียและยูเครนจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ทั้งสองประเทศก็มีความสำคัญในฐานะประเทศที่ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นและมีสำคัญ โดยเฉพาะอาหารและพลังงาน

 

จากการใช้แบบจำลองเศรษฐกิจโลก องค์การการค้าโลกคาดการณ์ว่าวิกฤตยูเครนจะทำให้จีดีพีการเติบโตของจีดีพีโลกลดลง 0.7-1.3% ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ระหว่าง 3.1-3.7% ในปีนี้

 

องค์การการค้าโลกบอกด้วยว่า บางภูมิภาคจะได้รับผลกระทบจากสงครามมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ แต่ยุโรปซึ่งเป็นปลายทางในการส่งออกสินค้าของรัสเซียและยูเครน มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักหนาสาหัสที่สุด

ขณะที่การลดปริมาณการส่งออกธัญพืชและอาหารอื่นๆ จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็จะส่งผลกระทบกับความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคที่ยากจน โดยแอฟริกาและตะวันออกกลางถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางมากที่สุด เนื่องจากนำเข้าธัญพืชจากยูเครนและรัสเซียมากกว่า 50%

ประเทศยากจนในซับซาฮาราก็กำลังเผชิญกับความเป็นไปได้ที่ราคาข้าวสาลีจะปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 50-85% เพราะผลกระทบจากสงครามต่อการขนส่งธัญพืช ทั้งนี้ องค์การการค้าโลกบอกด้วยว่า ประเทศยากจนมีความเสี่ยงสูงจากสงคราม เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของพวกเขาจะหมดไปกับค่าอาหาร เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศร่ำรวย ซึ่งสิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองตามมา

องค์การการค้าโลกระบุว่า ความเสี่ยงในระยะยาวประการหนึ่งจากสงครามคือความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการสลายตัวของเศรษฐกิจโลกไปสู่การแบ่งกลุ่มที่แยกจากกันอันเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตร โดยเป็นการแบ่งตัวที่ยึดตามภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อให้เกิดความพอเพียงในด้านการผลิตและการค้า แม้จะไม่มีการแบ่งกลุ่มอย่างเป็นทางการเกิดขึ้น แต่อาจมีการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงด้วยการปรับทิศทางของห่วงโซ่อุปทานใหม่

องค์การการค้าโลกเตือนว่า การสูญเสียรายได้จากพัฒนาการดังกล่าวอาจรุนแรง โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ในระดับโลก มันอาจลดจีดีพีในระยะยาวถึงราว 5% และจะจำกัดการแข่งขันและยับยั้งนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมกับเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่การลดลงของจีดีพีอาจจะรุนแรงกว่าที่ระบุไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง