รีเซต

วิกฤต รัสเซีย-ยูเครน โลกกระทบแค่ไหน

วิกฤต รัสเซีย-ยูเครน โลกกระทบแค่ไหน
TNN ช่อง16
19 พฤษภาคม 2565 ( 17:47 )
198

วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนส่งผลกระทบต่อโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะด้านการค้าที่ทั้งสองต่างเป็นผู้ส่งออกพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ ทำให้ราคาสินค้าพุ่งขึ้น สะเทือนเงินในกระเป๋าของผู้คนทั่วโลก รวมถึงไทย

รายงานเรื่องผลกระทบจากสงครามในยูเครนต่อการค้าและการลงทุนโลก (The Impact of the War in Ukraine on Global Trade and Investment) ที่จัดทำโดยคณะนักเศรษฐศาสตร์นำโดย “มิเชล รูธา” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก เน้นศึกษาผลกระทบจากสงครามล่าสุดต่อโลกทั้งในแง่การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ระบุว่า สงครามเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเศรษฐกิจโลก ทั้งการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยเป็นไปอย่างเชื่องช้าเนื่องจากยังมีการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับการสนับสนุนด้านนโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศเริ่มหมดไป อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่การหยุดชะงักด้านการค้าและการลงทุนจะส่งผลต่อการขยายตัวของประเทสกำลังพัฒนา และเพิ่มแรงกดดันเรื่องราคาสินค้า ยิ่งหากรัฐบาลของบางประเทศหันมาใช้ข้อจำกัดทางการค้าเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของตัวเอง


เมื่อเปรียบเทียบจากแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium-CGE) เกี่ยวกับผลกระทบต่อการค้าและสวัสดิการ พบว่า สงครามจะทำให้รายได้ทั่วโลกลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.7 ส่วนประเทศรายได้น้อยจะมีรายได้หายไปร้อยละ 1 ประเทศรายได้สูงจะมีรายได้หายไปร้อยละ 0.6 เนื่องจากการส่งออกหดตัว ประเทศผู้ส่งออกสินค้าในภาคการผลิตจะมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมาก อย่างเวียดนาม เม็กซิโก และไทย ซึ่งคาดว่าไทยจะมีรายได้ลดลงร้อยละ 0.9  แต่ประเทศผู้ส่งออกธัญพืช อาทิ ตุรกี บราซิล อินเดีย รวมถึงผู้ส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไนจีเรีย และประเทศในตะวันออกกลาง จะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ช่วยบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากสงครามได้

การค้าในหมวดอาหารและพลังงานได้รับผลกระทบจากสงครามมากที่สุด เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ เมล็ดทานตะวัน และน้ำมันดอกทานตะวัน ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง ยุโรป และจีน 


รัสเซียยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันสำคัญ ทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงปุ๋ยและสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเมื่อปี 2562 รัสเซียส่งออกถ่านอัดแท่งคิดเป็นร้อยละ 14 ของทั้งโลก และส่งออกน้ำมันดิบร้อยละ 13 ของทั้งหมด รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผ่านการกลั่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 และก๊าซธรรมชาติร้อยละ 9 ของทั้งหมด


กรณีข้าวสาลีที่ใช้ผลิตขนมปังและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รัสเซียและยูเครนส่งออกรวมกันราว 1 ใน 4 ของทั้งโลก โดยนับตั้งแต่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครนช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ราคาข้าวสาลีขยับสูงขึ้นกว่าร้อยละ 40 และเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60

รายงานประเมินว่า ภาวะช็อกจากราคาพลังงานและอาหารจะกระทบต่อการค้าโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกโดยรวมลดลงร้อยละ 1 โดยการส่งออกในประเทศกำลังพัฒนาจะลดลงร้อยละ 1.06 และการส่งออกในประเทศพัฒนาแล้วลดลงร้อยละ 1 ส่วนในแง่ปริมาณการค้า การนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากนอกทะเลดำจะลดลงร้อยละ 2.3 อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้นและถูกจำกัดความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนคาร์บอน (EITE) ลดลงร้อยละ 0.7 สินค้าโภคภัณฑ์ด้านการเกษตรลดลงร้อยละ 0.1-0.2 แต่การส่งออกของอุตสาหกรรมนอกกลุ่ม EITE เช่น อุตสาหกรรมเบาและภาคบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2-0.4


การส่งออกที่หยุดชะงักทำให้ราคาเพิ่มขึ้น เป็นผลกระทบเชิงลบต่อการค้า สวัสดิการ และเกิดผลกระทบที่ไม่สมมาตรระหว่างประเทศผู้ส่งออกกับประเทศผู้นำเข้า โดยผู้ส่งออกจะได้ประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้นและเพิ่มการผลิตทดแทนคู่สงคราม // ในขณะที่ผู้นำเข้าได้รับผลกระทบ 2 เด้ง เนื่องจากนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่แพงขึ้นในการบริโภค และต้องใช้สินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและบริการอื่น ๆ สำหรับส่งออก กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง


นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการแทรกแซงด้านนโยบายการค้าก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามส่งออกที่กระทบอุปทานทั่วโลก ส่วนการลดภาษีและข้อจำกัดในการนำเข้า หรือการอุดหนุนราคา ก็จะยิ่งทำให้ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ดันราคาให้แพงขึ้นอีก ซึ่งนับตั้งแต่เกิดการสู้รบมีนโยบายการค้าใหม่เกิดขึ้น 53 ครั้ง ซึ่งเป็นการจำกัดการส่งออก อาทิ การห้าม หรือมีข้อกำหนดเพิ่มเติม จำนวน 31 ครั้ง ลำพังการมีข้อจำกัดในการส่งออกก็มีส่วนผลักราคาข้าวสาลีขยับขึ้นร้อยละ 7

สงครามและมาตรการคว่ำบาตรที่ตามมาได้ขัดขวางการเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์ระหว่างรัสเซียและยูเครน กับภูมิภาคอื่น ๆ กรณีการขนส่งทางเรือ รัสเซียไม่สามารถเข้าถึงท่าเรือในยุโรปได้ และการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ไปยังตลาดอื่น ๆ ก็มีข้อจำกัด ส่วนท่าเรือบริเวณทะเลดำของยูเครนก็ถูกปิดล้อมหรือยึดพื้นที่ ทำให้เหลือเส้นทางสำหรับส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ไม่มากนัก 


นอกจากนี้ สงครามยังทำให้รัสเซียกับ 36 ประเทศปิดน่านฟ้าต่อกัน ทำให้การขนส่งทางอากาศระหว่างยุโรปและเอเชียตะวันออกใช้เวลานานขึ้นและมีราคาแพงขึ้น ส่วนการขนส่งทางรถไฟก็ล่าช้าเพราะต้องตรวจสอบไม่ให้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตร หากมีการคว่ำบาตรเพิ่มเติมอีกก็อาจมีความเสี่ยงที่จะต้องระงับการขนส่งทั้งหมด แม้การขนส่งทางรถไฟระหว่างยุโรป-เอเชียจะไม่ได้มีสัดส่วนมากนัก แต่ก็มีความสำคัญมากขึ้นหลังจากการขนส่งทางทะเลหยุดชะงักในช่วงวิกฤตไวรัส ดังนั้น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมภูมิภาคอื่น ๆ และทั่วโลก จะส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนและราคาสูงขึ้น


สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการผลิตจากยูเครน อาทิ เหล็ก อุตสาหกรรมหนัก เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ และซอฟต์แวร์ ซึ่งยุโรปเป็นตลาดที่มีความเปราะบางสุด ส่วนรัสเซียเป็นซัพพลายเออร์สำคัญในการผลิตวัตถุดิบขั้นต้นและขั้นกลางเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ อาทิ โลหะ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการขนส่ง เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ และการเกษตร 

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังมีแนวโน้มจะส่งผลต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในประเทศเพื่อนบ้าน และอุตสาหกรรมพลังงาน โดยอาร์เมเนีย มอลโดวา และคีร์กิซสถาน ได้รับเม็ดเงิน FDI จากรัสเซียในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 ของทั้งหมด ซึ่งประเทศเหล่านี้อาจมีเม็ดเงิน FDI จากรัสเซียลดลง เช่นเดียวกับเม็ดเงินที่ไปลงทุนในรัสเซียก็อาจลดลง 


แต่รายงานประเมินว่า ผลกระทบทางตรงจากสงครามที่มีต่อเม็ดเงิน FDI โลกน่าจะไม่มาก เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครนมีบทบาทจำกัดในเรื่องนี้ โดยรัสเซียเป็นจุดหมายของ FDI ในอันดับที่ 22 จากทั้งหมด 202 ประเทศที่มีการสำรวจข้อมูลในปี 2563 และเป็นประเทศที่ออกไปลงทุนมากเป็นอันดับ 22 จากทั้งหมด 172 ประเทศ ด้านยูเครนดึงดูดเม็ดเงิน FDI เพียงร้อยละ 0.1 ของทั้งหมดในปี 2563 และออกไปลงทุนในต่างประเทศน้อยมาก 


ส่วนผลกระทบทางอ้อมยังต้องรอการพิสูจน์เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน


ขณะที่ประเทศในยุโรปและเอเชียกลางพึ่งพาการลงทุนแบบทวิภาคีกับรัสเซียในภาคพลังงานอย่างมาก โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของเม็ดเงิน FDI ในโครงการใหม่ที่รัสเซียออกไปลงทุนในต่างประเทศ อยู่ในอุตสาหกรรมถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมูลค่ารวมระหว่างปี 2546-2564 สูงกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ และมีสัดส่วนราวร้อยละ 5 ของเม็ดเงิน FDI ใหม่ทั่วโลกในช่วงดังกล่าว ซึ่งจุดหมายปลายทางที่รัสเซียสนใจลงทุน คือ อียิปต์ อุซเบกิสถาน อิรัก จอร์แดน เวียดนาม ซีเรีย เยอรมนี เวเนซุเอลา บัลแกเรีย และอินโดนีเซีย 


ในทางกลับกัน หลายประเทศในยุโรป อาทิ ฟินแลนด์ เยอรมนี และนอร์เวย์ รวมถึงประเทศในเอเชีย เช่น จีน ก็เข้าไปลงทุนด้านพลังงานในรัสเซียค่อนข้างมาก 

ด้านการท่องเที่ยว ประเทศกำลังพัฒนาน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวรัสเซียและยูเครนใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวติดอันดับต้น ๆ ของโลก โดยข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) พบว่า ในปี 2562 นักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ 45 ล้านครั้ง เป็นอันดับ 4 ของโลก ใช้จ่ายราว 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ย 798 ดอลลาร์ต่อครั้ง ส่วนนักท่องเที่ยวยูเครนเดินทางไปต่างประเทศ 29 ล้านครั้ง อยู่ในอันดับ 7 ใช้จ่ายราว 8.9 พันล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ย 295 ดอลลาร์ต่อครั้ง


หลาย ๆ ประเทศ เช่น จอร์เจีย มอลโดวา มอนเตเนโกร และตุรกี พึ่งพานักท่องเที่ยวรัสเซียและยูเครนจำนวนมากที่เดินทางไปเที่ยวก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวยังอาจขยายวงไปยังนอกภูมิภาค เพราะประเทศต่าง ๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวรัสเซียและยูเครนมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 อาทิ อียิปต์ ตูนิเซีย ไทย คิวบา มัลดีฟส์ และแทนซาเนีย


ผลกระทบระยะยาวจากสงครามต่อการค้าและการลงทุนโลกยังจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละประเทศในการตอบสนองภูมิศาสตร์การเมืองที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับบริษัทต่าง ๆ ก็ต้องปรับตัวรับกับความเสี่ยงที่อาจกระทบห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain-GVC) แต่การรับมือก็ต้องใช้เวลา ไม่ใช่เกิดขึ้นได้ในทันที และจะส่งผลแตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรมและสินค้า

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง