'กรมชลฯ' จัดสรรน้ำโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นแล้ง ขอทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผนฯ
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 37,937 ล้านลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 50% ของความจุเก็บกัก โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,231 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 27% ของปริมาณน้ำใช้การได้ โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,218 ล้าน ลบ.ม. หรือ 37% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,522 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 หรือระหว่าง 1 พฤษจิกายน 2562-30 เมษายน 2563 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำ
ในเขตชลประทาน มีการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,699 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีการจัดสรรน้ำไว้รวมทั้งสิ้น 4,500 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 3,500 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน มีการใช้น้ำตามแผนฯ ไปแล้ว 14,488 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82% ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้ว 3,891 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 86% ของแผนจัดสรรน้ำฯ คาดว่าเมื่อสิ้นสุดการจัดสรรน้ำวันที่ 30 เมษายน 2563 การใช้น้ำจะเป็นไปตามแผนฯที่วางไว้
นอกจากนี้ ในส่วนของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563 ได้วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ 2.31 ล้านไร่ ปัจจุบัน มีการเพาะทำนาปรังไปแล้ว 4.20 ล้านไร่ เกินแผนฯไปแล้วกว่า 82% มีการเก็บเกี่ยวแล้ว 2.07 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.58 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก
อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะบริหารจัดการน้ำตามแผนฯที่วางไว้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ ตลอดจนสามารถสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้าได้อย่างไม่ขาดแคลน จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้งใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนฯที่วางไว้อย่างเคร่งครัดด้วย