รีเซต

ทุกฝ่ายอยู่ในสภาพพร้อมรบ หลังสหรัฐฯ ส่งทหารหลายพันไปยุโรปตะวันออก

ทุกฝ่ายอยู่ในสภาพพร้อมรบ หลังสหรัฐฯ ส่งทหารหลายพันไปยุโรปตะวันออก
TNN ช่อง16
3 กุมภาพันธ์ 2565 ( 12:15 )
95
ทุกฝ่ายอยู่ในสภาพพร้อมรบ หลังสหรัฐฯ ส่งทหารหลายพันไปยุโรปตะวันออก

รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่า จะส่งทหารอเมริกันเกือบ 3,000 นายไปยังยุโรปตะวันออกในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ท่ามกลางความขัดแย้งกับรัสเซียเหนือวิกฤตยูเครนที่ยังหาทางออกไม่ได้ ชี้ว่าเป็นการเคลื่อนไหว เพื่อปกป้องพันธมิตรนาโตหากสงครามปะทุขึ้น แม้ว่าจะสหรัฐฯ จะไม่เชื่อว่าผู้นำรัสเซียจะตัดสินใจบุกยูเครนก็ตาม


ทหารประมาณ 2,000 นายจะถูกส่งจากฐานทัพฟอร์ต แบร็กก์ ในนอร์ทแคโรไลนา ไปยังโปแลนด์และเยอรมนี ยานเกราะและทหารประมาณ 1,000 นายที่อยู่ในเมืองวิลเซก เยอรมนี จะถูกส่งไปยังโรมาเนีย


ทหารชุดใหม่ที่ส่งไปสบทบในยุโรป จะประจำการชั่วคราว และสหรัฐฯ สามารถส่งทหารไปเพิ่มอีกได้หากจำเป็น โดยกองกำลัง 2,000 นาย นี้จะไม่รวมกับทหาร 8,500 นาย ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ มีคำสั่งให้เตรียมพร้อมไปประจำการในยุโรปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว


---สหรัฐฯส่งสัญญาณจะยืดหยัดเคียงข้างองค์การนาโต---


จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า ทหารที่ส่งไปสมทบในยุโรปนี้เป็นส่วนหนึ่งของกองพลร่มที่ 82 ของกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ร่วมรบในกรณีที่รัสเซียบุกรุกยูเครน แต่เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียและทั่วโลก ว่า สหรัฐฯ จะยืนหยัดเคียงข้างองค์การนาโตเพื่อปกป้องพันธมิตรของสหรัฐฯ


อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ ไม่เชื่อว่าประธานาธิบปูติน ตัดสินใจที่จะบุกยูเครน แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าปูติน จะยอมลดระดับความตึงเครียดในบริเวณดังกล่าวเช่นกัน เพราะรัสเซียยังคงส่งกำลังทหารเข้าไปในเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซีย รวมทั้งบริเวณพรมแดนภาคเหนือและภาคตะวันออกของยูเครน พร้อมยืนยันว่า สหรัฐฯ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของรัสเซีย


---ความเห็นนักวิเคราะห์---


บาร์บารา เพลตต์ อัชเชอร์ ผู้สื่อข่าว BBC ประจำกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ มองว่า ทหารที่ถูกส่งไปประจำการเพิ่มในยุโรปตะวันออกเป็นกองกำลังที่พร้อมรบก็จริง แต่ไม่ได้มีเพื่อเตรียมสู้รบกับรัสเซีย เพราะหากเป็นเช่นนั้น จะต้องวางกำลังพลมากกว่านี้ และรัสเซียก็ไม่ได้คุกคามโปแลนด์และโรมาเนียโดยตรง


ดังนั้น การกระทำของสหรัฐฯ จึงเป็นสัญลักษณ์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรนาโตในยุโรปตะวันออก ที่เกรงว่า กองทัพรัสเซียที่ก่อตัวขึ้นรอบๆ ยูเครน อาจทะลักข้ามพรมแดนของพวกเขาได้


และเป็นการส่งสาส์นถึงปูตินว่านาโตมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ ดังนั้นการเคลื่อนไหวใด ๆ ที่รัสเซียทำกับพันธมิตรนาโต จะทำให้สหรัฐฯต้องทำตามพันธสัญญา Article 5 ของนาโตเพื่อปกป้องพวกเขา


---มาตรา 5 ของพันธสัญญานาโต คืออะไร?---


Article 5 ระบุว่า หากมีใครรุกรานชาติสมาชิกนาโต ชาติสมาชิกนาโตทั้งหมดจะร่วมกันปกป้องชาติดังกล่าว ทั้งนี้เคยมีการปฏิบัติตามพันธสัญญาดังกล่าว หลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11


นักวิเคราะห์มองว่า ไบเดนพยายามการแก้ปัญหานี้โดยไม่บ่อนทำลายโอกาสในการแก้ไขด้วยวิถีทางการทูต เพราะเขาไม่ได้ส่งทหารจำนวนมาก และไม่ได้ส่งไปยังรัฐบอลติก ที่ประกอบ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียซึ่งอยู่หน้าประตูบ้านของรัสเซีย


อย่างไรก็ตาม การวางกำลังทหารเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นกว้างกว่าเรื่องยูเครน แต่เป็นเรื่องพื้นฐานด้านความมั่นคงในยุโรปหลังยุคสงครามเย็น


การเคลื่อนไหวดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรนาโตที่กระวนกระวายใจในการเผชิญกับการประจำการทหารประมาณ 100,000 นายของรัสเซียใกล้พรมแดนยูเครน ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงการส่งกำลังชุดใหม่ของสหรัฐฯไปยังยูเครน ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนาโต แต่ได้รับอาวุธและการฝึกจากสหรัฐฯและพันธมิตร


---นักการเมืองอเมริกันบางคนไม่เห็นด้วย---


ฟิลิป บรีดเลิฟ อดีตนายพลกองทัพอากาศสหรัฐฯ และผู้บัญชาการกองกำลังพันธมิตรสูงสุดของนาโตประจำยุโรป มองว่า การส่งกำลังทหารอเมริกันเพื่อสนับสนุนพันธมิตรยุโรปตะวันออก มีแนวโน้มว่าจะมีผลในการยับยั้งอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะทำให้ปูตินเริ่มเห็นว่า การกระทำของเขา เป็นสาเหตุให้สิ่งที่ปูตินไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ซึ่งหมายถึงการขยายตัวของกองกำลังนาโตไปในยุโรปตะวันออก


หนึ่งในเหตุผลที่เรายังอยู่ในโต๊ะเจรจา เพราะปูตินเห็นว่าสิ่งที่เขาไม่ต้องการให้เกิดขึ้นได้เกิดขึ้นแล้ว ชี้ว่า นาโตจำเป็นต้องใช้ท่าทีที่แข็งกร้าว ไม่เช่นนั้น จะสนับสนุนรัสเซียให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ในอนาคตและกล่าวถึงความกลัวว่า รัสเซียจะรุกรานครั้งใหญ่นั้นมากเกินไป แต่เชื่อว่ารัสเซียสามารถครอบครองบางส่วนของยูเครนได้


เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโตยินดีที่สหรัฐฯ ตัดสินใจส่งกองกำลังเพิ่มเติมไปยังยุโรป ขณะที่ ส.ว.รีพับริกันบางคนก็เห็นด้วย


แต่ไมค์ บราวน์ ส.ว.ริพับลิกันอ้างถึงอัฟกานิสถาน ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่ไบเดนส่งทหารอเมริกันไปยังยุโรปตะวันออกเพื่อ ซึ่งทำให้ต้องไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอีกครั้งหลังจากเพิ่งยุติสงคราม 20 ปี


---ท่าทีของรัสเซีย---


อเล็กซานเดอร์ กรุสโก รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า การวางกำลังของสหรัฐฯ ว่าเป็นขั้นตอนที่ "ทำลายล้าง" ซึ่งจะเพิ่มความตึงเครียดและลดขอบเขตของการแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการเมือง


พร้อมเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีรัสเซียปูติน ได้หารือทางโทรศัพท์ถึงวิกฤตยูเครนทางกับนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2 กุมภาพันธ์)


แถลงการณ์จากสหราชอาณาจักรระบุว่า จอห์นสันบอกกับปูตินว่า ชาติประชาธิปไตยในยุโรปทั้งหมดมีสิทธิอยากจะเป็นสมาชิกนาโตได้ ทั้งนี้จอห์นสันเพิ่งไปเยือนยูเครนเพื่อแสดงการสนับสนุน


ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีปูติน เพิ่งจะกล่าวหาว่า สหรัฐฯ ว่าพยายามดึงรัสเซียเข้าสู่สงคราม โดยใช้ยูเครนเป็นเครื่องมือ เพื่อจะได้เป็นข้ออ้างในการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามปูตินระบุว่า หวังจะเห็นการเจรจาดำเนินต่อไป


---ความคืบหน้าวิถีทางการทูต---


สหรัฐฯ ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการ เพื่อตอบข้อเรียกร้องของรัสเซียแล้ว โดยยืนยันว่าเป็นเอกสารลับ และผู้นำรัสเซียตอบกลับมาแล้วแต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณชน แต่หนังสือพิมพ์ El Pais ของสเปนได้ตีพิมพ์รายงานเอกสารรั่วไหล ระบุว่า สหรัฐฯ ยินดีจะหารือเกี่ยวกับการสัญญาว่าจะไม่ส่งขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นดิน หรือส่งกองกำลังไปต่อสู้ในยูเครน หากรัสเซียตกลงที่จะทำเช่นเดียวกัน


ล่าสุด เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ไม่ได้ปฏิเสธรายงานดังกล่าว


ขณะที่ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า หากรัสเซียต้องการแก้ปัญหาด้วยวิธีเจรจาตามที่อ้างจริง เอกสารฉบับนี้ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีหนทางที่จะทำเช่นนั้นได้

—————

แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: Vyacheslav OSELEDKO / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง