รีเซต

งงจัด! รักษาตัวแบบ Hi แต่ถูก รพ.เรียกเก็บเงินค่ารักษาเพื่อนำไปเบิกต้นสังกัด

งงจัด! รักษาตัวแบบ Hi แต่ถูก รพ.เรียกเก็บเงินค่ารักษาเพื่อนำไปเบิกต้นสังกัด
มติชน
27 มีนาคม 2565 ( 14:14 )
60
งงจัด! รักษาตัวแบบ Hi แต่ถูก รพ.เรียกเก็บเงินค่ารักษาเพื่อนำไปเบิกต้นสังกัด

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศุภากร ปัตตะพงศ์ อายุ 59 ปี แอดมินกลุ่มวาปีที่รัก ร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าวว่า ตนเองได้เปิดกลุ่มสาธารณะในเฟซบุ๊ก ชื่อกลุ่มวาปีที่รัก เพื่อโพสต์ความเคลื่อนไหว และเรื่องราวต่าง ๆ ในอำเภอวาปีปทุม จ.มหาสารคาม ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงโควิด ก็มีแฟนเพจ ซึ่งเป็นพนักงาน ธกส. แห่งหนึ่งที่จังหวัดมหาสารคาม เข้ามาคอมเมนต์ว่าถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ภายหลังจากติดเชื้อโควิด-19 พร้อมกับครอบครัวรวม 4 คน ทั้ง ๆ ที่รักษาตัวที่บ้านหรือ Home Isolation

 

โดยพนักงาน ธกส. เล่าให้ฟังว่า ตัวเค้าและครอบครัวติดเชื้อทั้งบ้านรวม 4 คน หลังจากหายป่วยได้ติดต่อทางโรงพยาบาลเพื่อขอใบรับรองการป่วย เพื่อประกอบการลาป่วยส่งให้กับต้นสังกัด โดยทางโรงพยาบาลแจ้งว่าจะต้องสำรองจ่ายค่ารักษา แยกเป็นค่าห้องและค่าอาหาร ค่าบริการและดูแลผู้ป่วยกรณีพักรอก่อนเข้ารักษา/พักฟื้น (เบิกได้+ปกส.) เป็นเงิน 10,000 บาท และค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือก 59 บาท รวมต้องจ่ายคนละ 10,059 บาท ทั้งครอบครัว 4 คน เป็นเงิน 40,236 บาท

 

และที่สำคัญคือตลอดการรักษา ผู้ป่วยรักษาแบบ Hi หรือ Home Isolation ไม่เคยไปนอนโรงพยาบาล และกินอาหารของโรงพยาบาลเลย ส่วนยาที่ได้รับมาก็มีเพียงยาพาราเซตามอล ยารักษาตามอาการเท่านั้น ซึ่งได้สอบถามเจ้าหน้าที่การเงินไปว่า ไม่เคยมานอนโรงพยาบาล ไม่เคยได้อาหาร ทำให้ถึงต้องเก็บเงิน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้แจ้งมาแค่ว่า “ไม่เป็นไรหรอก คุณเบิกได้ ให้จ่ายไปก่อน”

 

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมา จังหวัดอื่น ๆ หรือโรงพยาบาลอื่น ๆ เป็นแบบนี้บ้างไหม ยกตัวอย่างเช่น ข้าราชการ ก็ใช้สิทธิจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง กรณีนี้คือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน แล้วค่อยไปเบิกคืนจากต้นสังกัด แล้วเงินที่จ่ายโรงพยาบาลไปแล้ว ไปอยู่ตรงไหน ทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ที่บ้าน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงในกรณีที่เกิดขึ้นด้วย

 

ทางด้าน นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับทราบเรื่องแล้ว และได้มีการสั่งการให้ตรวจสอบแล้วว่าการเรียกเก็บค่าบริการนั้นมีการบริการเกิดขึ้นจริงหรือไม่ มีรายละเอียดเกี่ยวข้องกันอย่างไร หรือมีความเข้าใจตรงกันหรือคลาดเคลื่อนกันอย่างอย่างไร โดยได้ให้โรงพยาบาลทำเรื่องชี้แจงเหตุที่เกิดขึ้นมาแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง