รีเซต

กรมชลประทานนราธิวาสพร้อมรับมือฝนตกหนัก 4-5 ธ.ค.นี้ ให้พื้นที่เสี่ยงติดตามสภาพอากาศ-น้ำ

กรมชลประทานนราธิวาสพร้อมรับมือฝนตกหนัก 4-5 ธ.ค.นี้ ให้พื้นที่เสี่ยงติดตามสภาพอากาศ-น้ำ
มติชน
3 ธันวาคม 2564 ( 19:26 )
63
กรมชลประทานนราธิวาสพร้อมรับมือฝนตกหนัก 4-5 ธ.ค.นี้ ให้พื้นที่เสี่ยงติดตามสภาพอากาศ-น้ำ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในทุกอำเภอ วัดปริมาณน้ำฝนสะสม 24 ชั่วโมงได้สูงสุดถึง 169 มิลลิเมตร ที่ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส และที่ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส วัดปริมาณน้ำฝนได้ 131 มิลลิเมตร ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมไหลลงแม่น้ำสายต่างๆมากขึ้น ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อภาวะน้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ในช่วงวันที่ 4 – 5 ธันวาคม 2564 ดังนี้

 

คลองตันหยงมัส บริเวณบ้านตันหยงมัส บ้านไท บ้านแกแม ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ บ้านมะนังกาหยี ตำบลมะนังตายอ ตำบลลำภู ตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส และบ้านทุ่งคา บ้านโต๊ะแม บ้านปูตะ ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ คาดการณ์ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งประมาณ 0.30 – 0.70 เมตร

 

แม่น้ำโก-ลก บริเวณชุมชนท่าโรงเลื่อย ชุมชนท่าประปา เขตเทศบาลสุไหงโก-ลก ชุมชนตลาดบ้านมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ คาดการณ์ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร

 

ทั้งนี้ ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่เสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งพิจารณาระบายน้ำในลำน้ำ/แม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลงของน้ำทะเล หมั่นตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน และแนวคันบริเวณริมแม่น้ำให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ควบคู่ไปกับการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอยู่เสมอ ที่สำคัญให้เตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ รวมไปถึงระบบสื่อสารสำรอง บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ตลอดเวลา ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำล่วงหน้า ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง