การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนช้าเกินไป มุมมอง บล.เมย์แบงก์ ต่อหุ้น "กลุ่มโรงไฟฟ้า"
#ทันหุ้น - บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุ ได้เข้าร่วมสัมมนาเรื่อง "อุตสาหกรรมไทยพร้อมหรือยังสำหรับการเป็นกลางทางคาร์บอน?" ซึ่งบรรยากาศของสัมมนาสะท้อนว่าอาจมีการปรับปรุงร่าง PDP2024 โดยอาจรวมถึง 1) เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน และ 2) การเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตพลังงานหมุนเวียนที่รวดเร็วขึ้น ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเชิงบวกต่อสัมมนานี้และคงมุมมอง "บวก" ต่อกลุ่มโรงไฟฟ้าของไทย อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงร่าง PDP2024 อาจใช้เวลาสักระยะ เลือก GPSC เป็นหุ้นเด่นที่ชอบมากกว่า GULF เนื่องจากมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าราคาก๊าซจะลดลงและคาดการณ์กำไร GPSC จะเติบโตแข็งแกร่งในไตรมาส 2-3/67
ร่าง PDP2024 ยังมีจุดอ่อน วิทยากรที่สัมมนาเสนอว่าร่าง PDP2024 ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยในปี 2593 ด้วยสองเหตุผลหลัก 1) ร่าง PDP2024 ตั้งเป้าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 50% ภายในปี 2580 ซึ่งตรงข้ามกับผลการวิจัยระดับนานาชาติที่แนะนำว่าควรมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 80% เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน และ 2) ร่าง PDP2024 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจาก 86 ล้านตันในปี 2568 เป็น 78 ล้านตันในปี 2573 ซึ่งยังสูงกว่าเป้าหมาย NDC ที่ 68 ล้านตันภายในปี 2573
ข้อเสียเปรียบไทยในการดึงดูดการลงทุนจากตปท. แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนภายใต้ร่าง PDP2024 จะเป็นไปอย่างช้า แต่วิทยากรกล่าวว่าบริษัทข้ามชาติจำนวนมากได้มีนโยบายไปสู่พลังงานสีเขียวอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนหรือใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 73-78 เช่น Pandora, LEGO, DENSO และ Toyota โดยวิทยากรชี้ว่า Pandora และ LEGO เลือกเวียดนามเป็นสถานที่ตั้งโรงงานแทนประเทศไทยเนื่องจากการวางแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนของเวียดนามดีกว่า ทั้งนี้ Pandora เพิ่งเริ่มสร้างโรงงานผลิตเครื่องประดับมูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐในเวียดนาม ในขณะที่ LEGO ได้ขยายการลงทุนมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในเวียดนาม
ประเด็นสำคัญอื่น ๆ การปลดล็อกเอทานอลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ โดยเอทานอลสามารถใช้เป็น 1) ไบโอเอทิลีน และ 2) Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินและการบรรลุเป้าหมายของ ICAO แต่มีความท้าทาย 3 ประการสำหรับ SAF คือ 1) ICAO กำหนด 14 เกณฑ์สำหรับ SAF 2) ใช้เงินลงทุนสูงสำหรับการผลิต SAF และ 3) SAF จะมีราคาสูงสำหรับภาคการบิน