คนจีนรุ่นใหม่เริ่มหมดไฟ แม้พยายามมากแค่ไหน
Editor’s Pick: คนจีนรุ่นใหม่เริ่มหมดไฟ แม้พยายามมากแค่ไหน ก็ยังไม่เพียงพอที่จะประสบความสำเร็จอยู่ดี
ในประเทศจีน การแข่งขันอันดุเดือดเริ่มขึ้นตั้งแต่คุณลืมตาดูโลก การได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ดี ไปจนถึงการได้ทำงานที่มีคนนับหน้าถือตาถือเป็นเรื่องใหญ่
แต่ปัจจุบัน ผู้คนนับล้านต้องการหลุดพ้นจากวัฏจักรเช่นนี้ ด้วยคำเพียงสองคำที่สะท้อนความคับข้องใจของคนรุ่นใหม่
“หมดไฟ”
การตั้งตัวช่างแสนลำบาก
เมื่อซุนเค่อ จบการศึกษาจากวิทยาลัยในปี 2017 เขาเดินทางไปนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อไล่ล่าความฝันเฉกเช่นวัยรุ่นจีนอีกหลายคน ที่หวังจะมีอาชีพการงานที่ดี มีรถยนต์ หรือบ้าน
เขาไม่คิดว่านี่จะเป็นเรื่องยากมากนัก เพราะในอดีต พ่อแม่ของหนุ่มวัย 27 ปีรายนี้ ตั้งตัวจากศูนย์ได้เช่นกัน และปัจจุบัน พวกท่านก็เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งในเมืองบ้านเกิด ใกล้ ๆ กับนครเซี่ยงไฮ้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาเริ่มธุรกิจร้านอาหารของตัวเองในปี 2018 ซุนเค่อก็ตระหนักว่าธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดใหญ่และแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารครองตลาดอยู่แล้ว, เขามาสายเกินแข่งขัน
ซุน กล่าวว่า เพื่อแข่งขันกับบริการส่งอาหารรายอื่น ๆ ตัวเขาและคู่ค้าทางธุรกิจต้องควักเงินของตัวเอง เพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียมการส่งอาหาร และส่วนลดให้กับลูกค้า ซึ่งคนที่ได้เงินที่แท้จริง คือ เหล่าธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ใช่ตัวเขา
หลังจากนั้นสองปี ซุนเสียเงินไปมากกว่า 1 ล้านหยวน หรือราว 5 ล้านบาท และปลายปีที่แล้วเขาต้องปิดกิจการลง
แนวคิดปฏิวัฒนาการ: เติบโต แต่ไม่ก้าวไปไหน
ปีที่ผ่านมา สังคมจีนให้ความสนใจกับคำว่า ‘เน่ย จ่วน’ ซึ่งพอจะแปลความหมายได้ว่า ปฏิวัฒนาการ หมายถึงการที่สังคมพัฒนามาถึงจุดหนึ่งแล้วหยุดอยู่กับที่ หรือพยายามมากเท่าไหร่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบัน คำนี้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อแสดงถึงความรู้สึก ‘หมดไฟ’
ศาสตราจารย์เซียง เปียว จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ในจีน (บางคน) กลัวว่าจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม หากพวกเขาไม่แข่งขันหรือทำงานหนัก แต่พวกเขากลับมองไม่เห็นความก้าวหน้าของตนเอง แม้ว่าจะพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า
กระแสดังกล่าวเริ่มต้นจากสังคมในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ เมื่อปรากฏภาพนักศึกษาทำงานหนักสุดโต่ง หนึ่งในภาพถ่ายเหล่านั้น เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชิงหัว (มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของจีน) กำลังทำงานบนคอมพิวเตอร์แล็บท็อปขณะที่ขี่จักรยานไปด้วย
ประเทศที่พัฒนาแล้วบนโลกก็มีคนที่เคยใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลาที่รุ่งเรืองเช่นกัน แต่ข้อแตกต่างสำหรับประเทศจีน คือ ‘ยุคทอง’ เหล่านี้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว
ภาพความรุ่งเรืองยังไม่หายไปจากความทรงจำของผู้คน นั่นก็หมายความว่า คนรุ่นใหม่อย่างซุนเค่อ ได้เห็นความสำเร็จของคนรุ่นก่อนหน้าที่เริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์
“คนรุ่นพ่อแม่ของเราต้องเจอกับความท้าทาย แต่พวกเขาก็มีโอกาสเช่นกัน ทุกอย่างในสังคมยังเป็นเรื่องใหม่ ขอแค่คุณมีไอเดียและความกล้า ก็ย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ” ซุน เค่อ กล่าว
ดร.ฟาง ซู อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ กล่าวว่า คนรุ่นก่อนหน้าเก็บเกี่ยวผลกำไรได้เพียงแค่เริ่มต้นทำธุรกิจ แต่ปัจจุบันโอกาสเหล่านั้นได้หมดลงแล้ว (คนรุ่นใหม่) แทบไม่เหลือโอกาสอะไรแบบนั้นอีกต่อไป
ความไม่พอใจต่อคนรวย
ปัจจุบัน ประเทศจีนมีมหาเศรษฐีมากเป็นอันดับสองของโลก แต่ในขณะเดียวกัน ชาวจีนกว่า 600 ล้านคนยังมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 1,000 หยวน หรือราว 4,900 บาท, ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเริ่มสร้างความขุ่นเคืองในคนหนุ่มสาวที่มีต่อนายจ้าง และยังรู้สึกว่าคนที่อยู่เบื้องบนของสังคม ไม่เข้าใจความลำบากของพวกเขา
ซูหมาง นักธุรกิจหญิงและอดีตบรรณาธิการใหญ่นิตยสารฮาร์เปอร์ บาร์ซาร์ ฉบับประเทศจีน ถูกโจมตีอย่างรุนแรงหลังจากที่เธอกล่าวว่าแนวคิด ‘ปฏิวัฒนาการ’ นี้เป็น ‘ช่องว่างระหว่างความปรารถนากับความสำเร็จ’ ซึ่งภายหลัง เธอได้ออกมาขอโทษต่อสังคม
สังคมจีนยังปรากฏแนวคิด 996 หมายถึงการทำงานตั้งแต่ 9.00 – 21.00 น. หรือ 12 ชั่วโมงต่อวัน ติดต่อกัน 6 วันต่อสัปดาห์ แนวคิดดังกล่าวกำลังถูกพูดถึงทั้งในโลกออฟไลน์และโลกออนไลน์ของจีน
ก่อนหน้านี้แจ็ค หม่า เคยสนับสนุนแนวคิด 996 โดยเขามองว่า สิ่งนี้คือ ‘พร’, การออกมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางคนเรียกนักธุรกิจรายนี้ว่า “นายทุนจอมสูบเลือดสูบเนื้อ”
คนรุ่นใหม่ ไร้ทางเลือก
ปัจจุบัน ในประเทศจีนเกิดกระแสแนวคิดใหม่ คือ ‘ถ่าง ผิง’ ในภาษาจีนกลาง ซึ่งหากแปลตรงตัวจะมีความหมายว่า “นอนราบ” หมายถึง การไม่ทำงานหนักเกินไป ให้เวลาผ่อนคลายกับตนเอง
ศาสตราจารย์เซียง เปียว จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มองกระแสดังกล่าวว่า คนรุ่นใหม่เลือกที่จะ ‘ยอมแพ้กับการแข่งขันที่ไร้ความหมาย’ และจำเป็นต้องทบทวนนิยาม ‘ความสำเร็จ’ ในรูปแบบเดิม
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าอาจจะเป็นเรื่องยากที่แนวคิดดังกล่าวจะได้รับการปรับใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากรัฐบาลอาจมองว่าแนวคิดดังกล่าวขัดแย้งกับค่านิยมของสังคม
ในสุนทรพจน์ในปี 2018 ประธานธิบดีสีจิ้ผิงของจีน กล่าวว่า ยุคใหม่ เป็นของเหล่าคนที่ทำงานหนัก และ ‘ความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดเท่านั้น’
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ Guangming Daily ของรัฐบาลจีน ออกบทความวิพากษ์วิจารณ์คนที่เชื่อในแนวคิดดังกล่าวว่า อาจสร้างอันตรายต่อเศรษฐกิจและสังคมของจีน
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มองว่า ในช่วงเวลา 5 – 10 ปีข้างหน้า กระแสของแนวคิด ‘ถ่าง ผิง’ จะยังไม่หายไป เนื่องจากยังไม่มีเกิดนวัตกรรมใหม่ หนุ่มสาวชาวจีนจึงไม่มีลู่ทางใหม่ ๆ ให้เติบโต และแนวคิดแบบ ‘ปฏิวัฒนาการ’ หรือการเติบโต แต่ไม่ก้าวไปไหน จะยังคงมีอยู่ต่อไป
ศาสตราจารย์เซียง เปียว กล่าวว่า ในโลกตะวันตก คนรุ่นใหม่อาจเลือกใช้ชีวิตนอกกรอบ หรือเลือกแบบมินิมอลลิสต์ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ในจีนแล้ว พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นเลย